จบโควิด BEM ลงทุนก้าวกระโดด เชื่อมใต้ดินสวนลุม-ศูนย์สิริกิติ์

BEM ชี้ไตรมาส 3 ธุรกิจทางด่วน-รถไฟฟ้าพ้นจุดต่ำสุด โควิดกระทบกำไรทั้งปี ไตรมาส 4 อัดลงทุน ออกหุ้นกู้ 3,000 ล้าน ลุยเมกะโปรเจ็กต์ ผนึกพันธมิตรชิงงาน 2 แสนล้านสายสีส้ม-สีม่วงใต้ 3 ก.ค.ขึ้นค่าตั๋วสายสีน้ำเงิน เร่งเจาะอุโมงค์เชื่อมสถานีศูนย์สิริกิติ์-สามย่าน มิตรทาวน์-วันแบงค็อก

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่บริษัทยังคงมั่นใจปี 2563 ยังเป็นปีที่ดีของ BEM โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้เซ็นสัญญาขยายสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน ทางด่วนขั้นที่ 2 และบางปะอิน-ปากเกร็ด ให้สิ้นสุดพร้อมกันวันที่ 31 ต.ค. 2578 เปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อขยายครบโครงข่าย 48 กม. เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และในไตรมาส 2 จะเข้าร่วมประมูลสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) และสายสีม่วงใต้เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ในปี 2564

โควิดคลาย Q3 ผ่านจุดต่ำสุด

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบระยะสั้น คาดว่าในไตรมาสที่ 3 หลังเดือน มิ.ย. การเดินทางจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ จากปัจจุบันรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ทำให้การเดินทางเริ่มไต่ระดับขึ้น ในช่วงเดือน พ.ค.มีผู้ใช้ทางด่วนกลับมา 80-85% ประมาณ 9 แสนเที่ยวคัน/วัน จากทั้งระบบ 1.2 ล้านเที่ยวคัน/วัน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะกลับมาช้า เพราะมีมาตรการเว้นระยะห่าง มียอดผู้โดยสารเฉลี่ย 1.5 แสนเที่ยวคน/วัน จากปกติ 4 แสนเที่ยวคน/วัน

“ตั้งแต่ ก.พ.-มี.ค. ทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้าได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว และมาตรการคุมเข้มโควิด เพราะคนทำงานอยู่บ้าน ทำให้การเดินทางลดลง ซึ่ง มี.ค.หนักสุด แต่พอเข้า เม.ย.เริ่มผ่านจุดต่ำสุด แต่มีวันหยุดเยอะ ตอนนั้นทางด่วนมีรถวิ่ง 5-6 แสนเที่ยวคน/วัน รถไฟฟ้าผู้โดยสารเหลืออยู่ 30% เพิ่งกลับมาดีขึ้นช่วง พ.ค. และได้เพิ่มรถเสริมเป็น 49 ขบวน และเพิ่มความถี่เดินรถช่วงเร่งด่วนเช้า-เย็น ลดความแออัดในขบวนรถและเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ”

คาดทั้งปีรายได้-กำไรลดลง

จากผลกระทบโควิดทำให้ผลประกอบการไตรมาสแรกลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวม 3,889 ล้านบาท แยกเป็นทางด่วน 2,300 ล้านบาท รถไฟฟ้า 1,293 ล้านบาท แต่ยังกำไร 508 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 2 ยังไม่พ้นจุดต่ำสุด แต่มั่นใจว่าไตรมาสที่ 3 หลังรัฐบาลเปิดเมือง รายได้ทางด่วนและรถไฟฟ้าจะกลับมาทันที 70% และฟื้นตัวเต็มที่ 100% ในไตรมาสที่ 4

“รายได้ปีนี้ทั้งปีลดแน่นอนเพราะโควิด แต่จะลดมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับรัฐจะผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3-4 เมื่อไหร่ หากเร็วทุกอย่างก็กลับมาเร็วขึ้น ซึ่งปีที่แล้วมีรายได้จากทางด่วน 10,302 ล้านบาท ส่วนรถไฟฟ้ามีรายได้ 5,022 ล้านบาท และรายได้เชิงพาณิชย์กว่า 700 ล้านบาท มีกำไร 5,000 ล้านบาท ทั้งธุรกิจทางด่วนและรถไฟฟ้ายังเป็นธุรกิจเติบโตทุกปี ซึ่งทางด่วนยังโตเฉลี่ยปีละ 1-2% โดยเฉพาะโครงข่ายนอกเมืองโต 4-5%”

3 ก.ค.ขึ้นค่าตั๋วสีน้ำเงิน 1 บาท

ขณะเดียวกันในฐานะที่ BEM เป็นคู่สัญญากับรัฐ เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย ได้ทำหนังสือถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อขอสงวนสิทธิ์เมื่อเกิดผลกระทบกับทางด่วนและรถไฟฟ้าเช่นนี้ ตามสัญญาจะมีการบริหารความเสี่ยงอย่างไร เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและรอนโยบายจากภาครัฐ

” 3 ก.ค.เราต้องขึ้นค่าโดยสารสายสีน้ำเงินตามสัญญาปรับทุก 2 ปี ตามดัชนีผู้บริโภคหรือ CPI คำนวณแล้วปรับขึ้น 1 บาทในบางสถานีเท่านั้น ส่วนอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นและสูงสุดยังคงเดิม 16-42 บาท รอ รฟม.อนุมัติ และยังเตรียมจัดโปรโมชั่นให้ผู้ใช้บริการด้วย”

สภาพคล่องล้นลุยชิงดำสายสีส้ม

สำหรับสภาพคล่องของบริษัทยังมีกระแสเงินสด 8,000-9,000 ล้านบาท เพียงพอสำหรับดำเนินธุรกิจในปีนี้จะเข้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.28 แสนล้านบาท จะร่วมกับ บมจ.ช.การช่าง ซึ่ง รฟม.จะเปิดประมูลเดือน มิ.ย. และปีหน้าจะร่วมประมูลสายสีม่วงใต้อีกกว่า 1 แสนล้านบาท หาก BEM ชนะทั้ง 2 โครงการ ทำให้ปริมาณผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้าเติบโต10-20% ต่อปี ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า

“สายสีส้มเรามั่นใจ เพราะมีประสบการณ์สร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน รู้ต้นทุนดี เป็นข้อได้เปรียบคู่แข่ง ทำการบ้านไว้หมดแล้ว คุยกับแบงก์หลายแห่งสนับสนุนเงินลงทุน ซึ่งสายสีส้มเป็นการลงทุน PPP รัฐจ่ายค่าเวนคืนและอุดหนุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท ใน 10 ปี เอกชนลงทุน 32,116 ล้านบาท งานระบบและรับสัมปทานเดินรถตลอดสาย 30 ปี เป็นงานใหญ่ของปี ที่รัฐต้องรีบผลักดันให้มีการลงทุน จากปัญหาเศรษฐกิจ ก็ต้องสู้กันเต็มที่ ใครบริหารต้นทุนการเงินดี ก็มีโอกาสชนะสูง”

จ่อออกหุ้นกู้ 3 พันล้าน

ในเร็ว ๆ นี้ บริษัทจะออกหุ้นกู้ 3,000 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้ที่ครบกำหนดเดือน ต.ค.นี้ 2,500 ล้านบาท จากหนี้ทั้งหมด 60,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้จากการลงทุนทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

นายสมบัติกล่าวอีกว่า รถไฟฟ้านอกจากจะทำให้คนเดินทางสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังเปลี่ยนโฉมการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ในแนวเส้นทาง มีศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม สำนักงาน หรือแม้แต่การสร้างทางเดินเชื่อมเข้ากับสถานี โดยที่ผ่านมาสายสีน้ำเงินมีโครงการสิงห์ คอมเพล็กซ์ สร้างเชื่อมใต้ดินกับสถานีเพชรบุรี ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ สร้างอุโมงค์เชื่อมกับสถานีสามย่าน ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางแค สร้างทางเชื่อมกับสถานีบางแค ยังมีโครงการวันแบงค็อกสร้างอุโมงค์เชื่อมทะลุสถานีลุมพินี และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับโฉมใหม่ มีทางเชื่อมใต้ดินกับสถานีรถไฟฟ้าด้วย จะเปิดบริการในปี 2565