คืบหน้าสอบ ผอ.รพ.ขอนแก่น ส่อผิดระเบียบ ครม. “รับเงินเปอร์เซ็นยา” เข้ากองทุน รพ.

คืบหน้าสอบ ผอ.รพ.ขอนแก่น ส่อผิดระเบียบ ครม. “รับเงินเปอร์เซ็นยา” เข้ากองทุน รพ.

กรณีที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(ผอ.)(รพ.)ขอนแก่น ตกเป็นผู้ถูกร้องเรียน จากบัตรสนเท่ห์ ร้องเรียนมายังศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต โดยไม่ระบุชื่อผู้ร้องเรียน พร้อมแนบหลักฐานการทุจริตทางการเงินด้วยระบุว่า ผอ.รพ.ขอนแก่นรับเงินต่างตอบแทนจากบริษัทยาเข้ากองทุน รพ. โดยลักษณะของเงินดังกล่าวสอดคล้องกับการสั่งซื้อยา ซึ่งหากกระทำความผิดตามว่าจริง จะมีโทษผิดตามระเบียบคณะรัฐมนตรี(ครม.)
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดสธ. พร้อมด้วย นพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณสุขนิเทศเขตสุขภาพที่ 6 และ น.ส.ยุพิน ตันวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม แถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าว

นพ.ยงยศ กล่าวว่า ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ปี 2562 มีผู้ไม่ระบุตัวตนส่งหนังสือร้องเรียน นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ขอนแก่น และเจ้าหน้าที่การเงินของ รพ. 1 คน มายังศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต พร้อมแนบหลักฐานพฤติกรรมที่ส่อทุจริต จึงได้มอบหมายกลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม ไปดำเนินการสอบสวนกรณีดังกล่าวเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม ปี 2562 และมีความเห็นว่าจะต้องมีการลงไปสอบสวนข้อเท็จจริงว่ามีมูลความจริงหรือไม่ อำนาจการพิจารณาจึงอยู่ที่ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดสธ. โดยเมื่อเดือนมีนาคม คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง พบว่า มีหลักฐานอันสมควรเชื่อในการทุจริตและผิดกฎหมายป.ป.ช.

“โดยทางกระทรวงฯ ได้มีการเน้นย้ำในเรื่องนี้ แจ้งไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2562 ให้มีความโปร่งใส เพื่อไม่ให้ผิดกับกฎหมาย ส่วนการร้องเรียนนั้นเป็นเรื่องปกติเรื่อง ไม่ได้เกิดขึ้นแค่รายนี้รายเดียว แต่มีการร้องเรียนเล็กๆ น้อยๆ มีนับ 100 คน ระดับสูง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดก็มีมากว่า 10 คน บางคนสอบว่าผิดก็ว่าไปตามลักษณะของความผิด และจากการมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ปลายปี 2560 โดยเราแจ้ง 2 มีนาคม 2561 แต่ในส่วนของ รพ.ขอนแก่นนั้น จากการตรวจสอบพบว่าเดือนมีนาคม ปี 2561 รับเงิน 1.5 ล้านบาท และยังรับอีก 2 -3 เดือน การรับตรงนี้เมื่อตรวจสอบยังพบว่า จำนวนเงินที่แตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับ รพ.ซื้อยาเท่าไหร่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่างตอบแทน อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อไปในการตรวจสอบวินัยร้ายแรง ก็ต้องไปดูว่าทุจริตหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทุจริต แต่ถูกสงสัยว่าอาจกระทำผิดระเบียบในเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทนด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่มี นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 6 ” นพ.ยงยศ กล่าว

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ปี 2562 โดยได้เรียกพยานบุคคล และพยานเอกสาร ทั้งรัฐบาลและเอกชน จากนั้นรวบรวมสรุปผลเพื่อเสนอผู้ที่อำนาจต่อไป ซึ่งเป็นกระบวนการตามปกติ โดยได้รวบรวมหลักฐานมาตลอด พบว่ามีมูลหลักฐานความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. เรื่อง การรับเงินเข้าสู่กองทุน รพ.ขอนแก่น ที่ขัดต่อกฎหมายป.ป.ช. และมีการรับทราบในการลงรับเรื่องมาตลอด

“ขอย้ำว่า กรณีการสอบสวนที่ผ่านมาทำตามกฎหมายทั้งหมด โดยเป็นไปตามกฎคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556 ข้อ 4 (1) (2) ว่า หากการร้องเรียนเป็นบัตรสนเท่ห์ที่ไม่มีการลงชื่อ แต่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเป็นเบาะแสได้นั้น ก็ต้องตรวจสอบ และทางคณะกรรมการสอบสวนก็มีการสอบพยานประมาณ 11 ปาก เอกสารไม่ต่ำกว่า 18 ชุด ทั้งหมดมีหลักฐานเป็นไปตามกฎหมาย” นพ.อภิชาติ กล่าว

ด้าน น.ส.ยุพิน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่กฎหมาย ป.ป.ช. โดยตรง แต่ป.ป.ช. มีข้อเสนอให้ ครม. ให้ความเห็นชอบว่า ต่อไปนี้ส่วนราชการจะรับเงินเปอร์เซ็นต์ยาไม่ได้ หากมีกรณีเช่นนี้อีก ให้ถือว่าผู้ฝ่าฝืนทำผิดความผิดวินัย ซึ่งก็จะเข้าเรื่องไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบราชการ จึงเป็นได้ทั้งวินัยร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ซึ่งขัดต่อมติ ครม. ที่ป.ป.ช.เสนอเรื่องนี้

“เรื่องนี้ไม่ใช่กฎหมาย ป.ป.ช. โดยตรง แต่ป.ป.ช. มีข้อเสนอให้ ครม. ให้ความเห็นชอบว่า ต่อไปนี้ส่วนราชการจะรับเงินเปอร์เซ็นต์ยาไม่ได้ หากมีกรณีเช่นนี้อีก ให้ถือว่าผู้ฝ่าฝืนทำผิดความผิดวินัย ซึ่งก็จะเข้าเรื่องไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบราชการ จึงเป็นได้ทั้งวินัยร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ซึ่งขัดต่อมติ ครม. ที่ป.ป.ช.เสนอเรื่องนี้” น.ส.ยุพิน กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ปกติการสอบสวนบัตรสนเท่ห์ทำได้ตลอดหรือไม่ น.ส.ยุพิน กล่าวว่า กรณีบัตรสนเท่ห์ที่ไม่แสดงข้อมูลผู้ร้องเรียนแต่ส่งเอกสารที่ชี้ชัด หรือชี้เบาะแสทำให้ตรวจสอบต่อไปได้ จำเป็นต้องตรวจสอบ แต่หากเป็นบัตรสนเท่ห์ที่เขียนมาลอยๆ ก็ไม่ต้องดำเนินการ แต่หากมีพยานหลักฐาน โดยตามกฎหมายหากผู้ถูกสอบสวนมีเหตุให้มีผลขัดขวางการสอบสวน ก็สามารถย้ายออกได้ แต่ต้องมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแสดงออกมาก่อน ทั้งก่อน ระหว่างก็ได้ ซึ่งหากทำให้การสอบสวนไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ ก็ย้ายได้ อย่างไรก็ตาม การสอบสวนทางวินัยร้ายแรงต้องไม่เกิน 180 วัน แต่หากมีเหตุจำเป็นขยายเวลาได้ แต่ไม่ควรเกินทั้งหมด 270 วัน

เมื่อถามว่ากรณีที่เกิดขึ้นเกิดคำถามว่าต้องการโยกย้าย ผอ.รพ.ขอนแก่น นพ.ยงยศ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทำตามหนังสือร้องเรียน พร้อมหลักฐาน ซึ่งมีการตรวจสอบตามหนังสือทั้งหมด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายข้าราชการแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามการสอบสวนตามบัตรสนเท่ห์นั้น ปกติมีมากกว่ามีการลงชื่อ เพราะต้องเข้าใจว่า อำนาจของผู้ถูกร้องมีมากกว่าผู้ร้อง จึงไม่ลงชื่อกัน