‘อุตตม’ จ่อตั้งกองทุนช่วยเอสเอ็มอี ไร้ประสบการณ์กู้เงิน ด้าน ธปท. ปัดอุ้มแต่ลูกค้าชั้นดี

‘อุตตม’ เตรียมออกกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี ไร้ประสบการณ์กู้เงิน ด้านผู้ว่าฯ ธปท. ปัดปล่อยกู้แต่ลูกค้าชั้นดีความเสี่ยงต่ำ ชี้ร้อยละ 70 เป็นกลุ่มความเสี่ยงปานกลางและค่อนข้างสูง

เมื่อเวลา 15.08 น. วันที่ 28 พ.ค. นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ชี้แจงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีว่า วันนี้เรามีมาตรการที่เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ก.ช่วยเหลือเอสเอ็มอี 5 แสนล้านบาท ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการหารือกับกระทรวงการคลัง มาตรการใหม่ที่จะออกมาจะเป็นในส่วนของเอสเอ็มอี ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์การกู้เงินกับสถาบันการเงิน หรือกลุ่มที่เราเรียกว่ายังไม่เข้มแข็งเรื่องเงินทุน ขนาดยังไม่ใหญ่ เป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน ซึ่งสภาวะปกติน่าจะเติบโตไปได้หลายๆ ราย แต่สถานการณ์ปัจจุบันก็น่าเสียดายว่าหากเขาถูกกระทบจนไปต่อไม่ได้ ล้มตายจากไปที่สุด เพราะยังอยู่ในการเติบโตช่วงแรกของเอสเอ็มอี

นายอุตตม กล่าวต่อว่า ฉะนั้นมาตรการที่ออกมาจะมีความเป็นไปได้ว่าจะออกมาในรูปของกองทุน ซึ่งจะต่างจากสินเชื่อ จะเป็นกองทุนประกอบเงื่อนไขที่เหมาะสมในการส่งเสริมเข้าถึงแหล่งเงินทุน และส่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปในตัว ซึ่งเป็นมาตรการเร่งดำเนินการเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มนี้

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ชี้แจงเสริมถึงพ.ร.ก.ปล่อยซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท ให้เอสเอ็มอี ว่า วิกฤตการณ์โควิดรอบนี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก ไม่รู้ว่าจะจบอย่างไรและเมื่อไร ตอนนี้จึงได้ออกมาตรการสินเชื่อซอฟท์โลนของธปท. เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อยอย่างทั่วถึง ซึ่งขณะมีผู้ได้รับความช่วยเหลือแล้วไปแล้ว 35,217 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 1.65 ล้านบาทต่อราย รวมวงเงิน 58,208 ล้านบาท โดยร้อยละ 51 เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ที่วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท

ส่วนข้อสังเกตของส.ส.ว่าธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้แต่ลูกค้าชั้นดีความเสี่ยงต่ำนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะร้อยละ 70 เป็นลูกหนี้กลุ่มความเสี่ยงปานกลางและค่อนข้างสูง โดยร้อยละ 71 เป็นลูกหนี้ในต่างจังหวัด ส่วนลูกค้าที่ไม่เคยกู้เงินกับสถาบันการเงินมาก่อน โดยธนาคารของรัฐ และธนาคารกรุงไทย มีโครงการสินเชื่อให้อีก 40 โครงการ เพื่อช่วยเหลือ และการออกพ.ร.ก.ซอฟท์โลนนี้ เป็นรูปแบบเดียวกับเมื่อครั้งที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 54 และยืนยันพ.ร.ก.ช่วยเอสเอ็มอี ไม่ใช่การกู้เงิน แต่เอาเงินธปท.ไปให้สินเชื่อ เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง และยังไม่กระทบกองทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะขณะนี้เป็นการเสริมสภาพคล่องในรูปของเงินบาท