‘อนุดิษฐ์’ วางเงื่อนไข 3 ข้อ ก่อนโหวต พ.ร.ก.กู้เงิน จี้เปิดโอกาสสภา ตรวจสอบการใช้เงิน

“อนุดิษฐ์” แนะ รบ.มีหน้าที่เยียวยาปชช.และผู้ประกอบการ – พยุงและฟื้นฟูศก. พร้อมวางเงื่อนไขให้รบ. 3 ข้อ ก่อนโหวตให้ พ.ร.ก.กู้เงิน

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่รัฐสภา น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคพท. ลุกขึ้นอภิปราย ว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2020 พ.ศ.2563 นี้ รัฐบาลตั้งชื่อเล่นว่า พ.ร.ก.เราไม่ทิ้งกัน 2020 แต่ชาวบ้านเขาเรียกว่า พ.ร.ก.เราเป็นหนี้ด้วยกัน 2020 พรรคเพื่อไทย (พท.) เห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ตนตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนเลยว่า การออกพ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาทครั้งนี้ รัฐบาลข้ามขั้นตอนสำคัญไปหลายประการ โดยเฉพาะการสำรวจเงินในกระเป๋าตัวเอง จนสังคมตั้งข้อครหาว่า ท่านตั้งใจกู้เงินมากเกินไปเพื่อวัตถุประสงค์แอบแฝงหรือไม่ ท่านนายกฯใช้อำนาจท่าน ออก พ.ร.ก.ขอกู้เงินมาเต็มแม็ค จนคนเขาสงสัยกันทั้งประเทศว่า จะขอกู้ไปทำไมทั้งๆ ที่ยังไม่มีรายละเอียดโครงการเลยว่าจะเอาไปใช้อะไร แถมยังเปิดกรอบให้ตัวเองกู้ยาวไปถึง กันยายน 64 ถ้าท่านจริงใจแก้ปัญหา ท่านต้องบริหารจัดการเงินในกระเป๋าของตัวเองเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการชะลอโครงการที่ไม่จำเป็นจากงบประมาณปี 63 ที่ มีเม็ดเงินแล้ว เช่น โครงการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ แล้วนำเงินส่วนนี้มาเยียวยาประชาชนอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่ปล่อยให้หลายครอบครัวหมดที่พึ่ง จนต้องคิดสั้น ไปจนกระทั่งถึงการปรับปรุงกรอบงบประมาณปี 64 ใหม่ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์โควิด แต่ที่ผ่านมา ท่านทำก็เหมือนไม่ทำ และถ้าวันนี้ท่านนายกฯไม่ชี้แจง ให้กระจ่าง พ.ร.ก.นี้จะมีชื่อเล่นว่า พ.ร.ก.เราล้มละลายด้วยกันอย่างแน่นอน

น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวต่อว่า ประเทศไทยไม่ได้มีแค่ 3 ป. แต่มี 3 จ. ด้วย คือ เจ็บ จน เจ๊ง ของเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจากผลกระทบของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงร้อยละ 5.3 ในขณะที่ไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลง ร้อยละ 6.7 โดยเฉพาะการส่งออกจะหดตัวร้อยละ 8.8 ส่วนการท่องเที่ยวหดตัวแน่นอน โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปี 63 อยู่ที่ 15 ล้านคน และในปี 64 อยู่ที่ 20 ล้านคน นั่นคือนักท่องเที่ยวจะหายไปกว่าครึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 62 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในปี 63 มีแนวโน้มหดตัว และสุดท้ายคือการ บริโภคในปี 63 ก็มีแนวโน้มหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นมา นั่นคือเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทย 4  เครื่อง ได้แก่ การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน และการบริโภคภายใน ติดลบทุกตัว วันที่ 31 มีนาคม 63 จีดีพีประเทศไทยอยู่ที่ 17 ล้านบาท ยอดหนี้สาธารณะประมาณ 7 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีร้อยละ 41.28 แปลว่าหากจีดีพีหดตัวลงร้อยละ 6 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยตามประมาณการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยและไอเอ็มเอฟ จีดีพีจะเหลือประมาณ 15.98 ล้าน ล้านบาท ส่วนหนี้สาธารณะจะกลายเป็นร้อยละ 43.86 หรือร้อยละ 44 นั้น ประเทศไทยจะก่อหนี้ได้อีกไม่เกินร้อยละ 16 ของจีดีพีเพื่อให้อยู่ใน กรอบไม่เกินร้อยละ 60 ตามกฎหมาย แปลว่ารัฐบาลจะก่อหนี้ได้อีกไม่เกิน 2.5 ล้านล้านบาท ที่เป็นยอดเต็มเพดานการก่อหนี้

แต่ตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้รัฐบาลกู้มา 1 ล้านล้านบาท จึงเหลือเพดานที่จะก่อหนี้ ได้อีกไม่เกิน 1.5 ล้านล้านบาท ดังนั้น วงเงินกู้ครั้งนี้ อาจจะถือเป็นเงินหน้าตักก้อนสุดท้ายที่รัฐบาลจะต้องใช้เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้ ก็จะทำให้จีดีพีหดตัว และจะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นไปอีก สุดท้ายประเทศจะพังเหลือไว้แต่หนี้ให้คนรุ่นหลังชำระใช้หนี้ตั้งแต่เกิดยันตาย เงิน 2.662 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับ พ.ร.ก.ฉบับนี้และที่จะต้องกู้ชดเชยงบ ประมาณปี 64 อีก 1.523 ล้านล้านบาท รวมเป็นเงิน 4.185 ล้านล้านบาท หากดูตามแผนงานบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งสำนักงบประมาณจัดสรร เงินไปชำระหนี้เฉลี่ยประมาณปีละ 48,000 ล้านบาท จะต้องใช้เวลาเกือบ 90 ปี หรือสองชั่วชีวิตของพล.อ.ประยุทธ์ถึงจะชำระหนี้หมด

ยุทธศาสตร์ชาติที่ท่านวางไว้ 20 ปี วนไปอีก 4 รอบก็ยังใช้หนี้กันไม่หมด ท่านกำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศไทย ท่านกำลังจะเป็นนายกฯที่สร้างหนี้ให้กับคนไทยชั่วลูกชั่วหลาน เด็กเกิดใหม่ลืมตาพร้อมกับหนี้เป็นแสน

“ตนเป็นอดีตนักบิน ถ้าเครื่องยนต์ดับสนิททั้ง 4 ตัว ผมเป็นกัปตัน ทำได้ 2 อย่างครับ 1.โหม่งโลกไปพร้อมไปผู้โดยสาร 2.กระโดดร่มหนีเอาตัวรอด สิ่งที่พี่น้องประชาชนเป็นกังวล ก็กลัวว่าท่านจะกู้เสร็จแล้วโดดร่มหนีเอาตัวรอด ทิ้งหนี้สินไว้ให้ประชาชน ยังไงเราก็ขึ้นเครื่องบินลำเดียวกันแล้ว เราคงต้องร่วม กันนำพาผู้โดยสารไปให้ถึงจุดหมาย

ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทุกตัวได้ทำงานโดยเร็วที่สุด เพื่อนำพาผู้โดยสาร ในเครื่องคือพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศให้ถึงจุดหมายอย่าง ปลอดภัย รัฐบาลจึงมีหน้าที่สำคัญ 3 ประการ ที่จะต้องดำเนินการ คือ 1.เยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับ ผลกระทบ 2.พยุงและค้ำยันเศรษฐกิจไม่ให้ล่มสลาย และ 3.ฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ รัฐบาลมีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่น ไม่ใช่ฉวยโอกาสทางการเมืองเอาโควิด-19 มาเป็นแพะ สร้างความหวาดกลัวเพื่อควบคุมประเทศ ผมและพรรคร่วมฝ่ายค้านจะลงมติ พ.ร.ก.เราเป็นหนี้ด้วยกัน 2020 อย่างไรนั้น อยู่ที่ความชัดเจนจากการชี้แจงจากรัฐบาล แต่อย่างน้อยที่สุด ท่านต้องดำเนินการสนับสนุนอย่างน้อย 3 เงื่อนไข ไม่ใช่เพื่อพรรคฝ่ายค้าน แต่เป็นเรื่องที่จะเกิดประโยชน์กับคนไทยทั้ง ประเทศ คือ 1.ท่านต้องสนับสนุนให้ตัวแทนพี่น้องประชาชนมีโอกาสได้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ โดยผ่านทางกรรมาธิการวิสามัญของสภา 2. ต้องรายงานให้สภาได้รับทราบและตรวจสอบร่วมกันทุก 3 เดือน และ 3.ควรเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุง พ.ร.ก.ให้ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ด้วยการออก พ.ร.บ.แก้ไขสาระสำคัญของการกู้เงิน และการใช้เงินที่ไม่เป็นประโยชน์และขาดประสิทธิภาพ” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว