รถโดยสารโคราชร้องรัฐจ่ายชดเชยค่าโดยสาร 30% อุดขาดทุนมาตรการเว้นระยะห่าง

กลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารโคราชพร้อมเปิดวิ่งบริการ หากรัฐชดเชยการขาดทุน-ยกเลิกมาตรการเว้นระยะห่างที่นั่งผู้โดยสาร พร้อมเตรียมมาตรการป้องกันอย่างรัดกุมให้ผู้โดยสารเกิดความมั่นใจ ด้านหอการค้าเร่งช่วยเหลือยื่นจดหมายถึงหน่วยงานหาทางออกร่วมกัน 

นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางในจังหวัดนครราชสีมากว่า 10 ราย  ที่มีความคิดเห็นตรงกันว่าหากรถโดยสารยังไม่สามารถเปิดทำการเดินรถได้ และยังคงมาตรการเว้นระยะห่างบนรถประจำทางแล้ว จะทำเกิดปัญหาตามมาตามที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการขึ้นค่าโดยสารสูงเป็นเท่าตัวในขณะนี้   และปัจจุบันประชาชนมีความต้องการเดินทางเป็นจำนวนมาก อันเนื่องจากรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดส่วนใหญ่ได้หยุดการเดินรถมากว่าใน 2 เดือน และเมื่อเกิดความต้องการการเดินทาง ทำให้เกิดการเดินรถที่ผิดกฎหมาย หลอกลวงประชาชนเกิดขึ้นจำนวนมาก ด้วยความจำเป็นของประชาชนดังกล่าว จึงควรมีการประกาศเปิดการเดินรถระหว่างจังหวัด แต่ด้วยมาตรการในการป้องกันการแพร่การระบาดของโรคโควิด-19 กำหนดให้มีการเว้นระยะห่างที่นั่งในการโดยสาร ทำให้ผู้ประกอบการเดินรถ ไม่สามารถเปิดการเดินรถได้ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถประกอบการได้ ภายใต้การบรรทุกผู้โดยสารเพียง 50% ของจำนวนที่นั่งต่อคัน ทั้งที่กรมการขนส่งทางบก ได้ประเมินอัตราการบรรทุก (Load Factor) ที่ประกอบการได้อยู่ที่ 70-75% และตลอดช่วงที่ผ่านมาที่ต้องหยุดการประกอบการมากกว่า 2 เดือนนั้น ผู้ประกอบการด้านการขนส่งสาธารณะก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากทางภาครัฐต่อการกลับมาประกอบการได้อย่างแข็งแรง และไม่ได้รับความช่วยเหลือต่อมาตรการฟื้นฟูใดๆ อีกทั้ง หากการเปิดการเดินรถ จะผลักภาระการชดเชยที่นั่งที่ว่างตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมไปที่ผู้โดยสารด้วยการเพิ่มราคาค่าโดยสาร ก็จะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทั้งนี้เพื่อการกลับมาใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การมีงานทำของแรงงานในภาคการขนส่งจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบการเดินรถได้ และสามารถฟื้นฟูกิจการได้โดยเร็ว

นายชัยวัฒน์  วงษ์เบญจรัตน์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด และนครชัย 21  เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกันของผู้ประกอบการ จึงได้ขอนำเสนอมาตรการแก้ไข เยียวยา เพื่อให้สามารถเปิดการเดินรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ดังนี้

1. กรณียังคงมาตรการเว้นระยะห่างที่นั่ง ขอให้ภาครัฐได้ชดเชยการขาดทุนในการประกอบการ ในราคาค่าโดยสารปกติตามลักษณะมาตรฐานรถ อีกจำนวน 30% ของจำนวนที่นั่งของแต่ละเที่ยววิ่ง

2. หากการชดเชยตามข้อ 1. เห็นว่า เป็นภาระด้านงบประมาณของภาครัฐ  ขอนำเสนอในมิติที่จะสามารถลดผลกระทบในทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐไม่ต้องใช้งบประมาณ ผู้โดยสารไม่ต้องชำระค่าโดยสารเพิ่ม ผู้ประกอบการสามารถประกอบการได้ คือ การยกเลิกการนั่งเว้นระยะห่างภายในรถโดยสารสาธารณะ โดยสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงในภาวะปัจจุบันและที่ผ่านมา หากผู้โดยสารได้ป้องกันตนเอง และผู้ประกอบการได้มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด โอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคจากการเดินทางก็เป็นไปได้ยาก ผู้ประกอบการและผู้โดยสารยังคงต้องเข้มงวดกับมาตรการอื่นๆ

ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดต่อไปอีกระยะหนึ่ง จึงได้นำเสนอมาตรการการปฏิบัติของผู้ประกอบการ ดังนี้

1. ยกเลิกการเว้นระยะห่างในรถสาธารณะที่มีที่นั่ง เพื่อให้กลับมาวิ่งได้ โดยไม่ต้องผลักภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ตามวันเวลาที่ภาครัฐเห็นควรว่าเหมาะสมในการเปิดให้บริการ 

2. กำหนดให้ผู้ประกอบการวัดไข้ผู้โดยสารทุกคน และจัดเจลล้างมือไว้ให้บริการ ทั้งก่อนขึ้นรถและในรถ กรณีที่ผู้ประกอบการสงสัยในอาการของผู้โดยสาร กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1 คน ประจำทุกสถานีขนส่ง เพื่อตรวจสอบและตัดสินใจในการอนุญาตให้โดยสารหรือเดินทาง

3. กำหนดให้ผู้โดยสารต้องใส่แมสทุกคน  ประชาสัมพันธ์ให้ งดทานอาหาร พูดคุย สัมผัสบุคคลอื่น (ป้องกันการเปิดปาก จมูก)

4. รถโดยสารทุกคัน ผู้ประกอบการควรทำความสะอาด เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกเที่ยว โดยเฉพาะจุดสัมผัสต่างๆ

5. กรณีรถมีระยะทางยาว หากต้องบริการอาหาร ต้องกำหนดจุดจอดทานอาหาร เพื่อจอดให้ผู้โดยสารลงทานอาหาร  และที่ร้านอาหาร เมื่อผู้โดยสารต้องเปิดปาก มีการสัมผัสอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยมือ ร้านอาหารต้องปฏิบัติตามมาตรการเข้มงวดในการให้บริการตามนโยบายรัฐเพื่อความปลอดภัย

6. พนักงานประจำรถต้องใช้มาตรการป้องกันเช่นเดียวกับผู้โดยสาร และ งดการสัมผัสระหว่างกันในการให้บริการ งดการแจกอาหารของบริโภคภายในรถ การซื้อตั๋ว ขายตั๋ว ใช้มาตรการเว้นระยะและลดกระบวนการที่ต้องสัมผัส เงิน สิ่งของ ระหว่างกันให้มากที่สุด

7. บันทึกข้อมูลผู้โดยสารทุกคนให้ครบถ้วนตามแบบฟอร์ม  หรือการใช้แอพพลิเคชั่นในการติดตามผู้โดยสาร เพื่อติดตามได้ในภายหลัง กรณีเกิดปัญหาหรือต้องการข้อมูล 

8. ใช้จุด Check Point  ที่กำหนดโดยกรมการขนส่งทางบก ที่มีทุกระยะตลอดเส้นทางให้เป็นประโยชน์ ในการควบคุม ตรวจสอบ ประชาสัมพันธ์ผู้โดยสารตลอดการเดินทาง  

นายชัชวาล กล่าวเพิ่มเติมว่า หอการค้าโคราชจะเร่งผลักดัน และเตรียมยื่นจดหมายเรื่องนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยพิจารณา และหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการ ประชาชน และแรงงานด้านขนส่งมีรายได้ต่อไป