“โฆษก ศบค.” ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกม.ที่จัดการกับปัญหาโควิด-19 ได้

“โฆษก ศบค.” ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกม.ที่จัดการกับปัญหาโควิด-19 ได้

โฆษก ศบค.ขอเน้นย้ำ คติประจำใจใหม่ “ภาครัฐต้องเข้มข้น เอกชนต้องเข้มแข็ง ประชาชนต้องร่วมแรง เพื่อให้ประเทศไทยได้ไปต่อ”

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ก่อนมีการกำหนด ใช้พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเทศไทยใช้พระราชบัญญัติ(พรบ.) โรคติดต่อ เพียงอย่างเดียว และต้องมีการทำงานข้ามกระทรวง เช่น การตั้งด่าน การคัดกรองคนเดินทาง ดังนั้นการทำงานโดยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ไม่สามารถทำได้ หรือ อาจจะได้ทำได้ไม่ดี แตกต่างจากหลังที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ พรบ.โรคติดต่อ เป็นเพียงกฎหมายหนึ่งใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยังมีกฎหมายอีกกว่า 40 ฉบับ จึงทำให้มีการทำงานอย่างบูรณาการกัน และมีศูนย์ปฏิบัติการด้านความมั่นคง(ศปม.) เป็นผู้นำในการทำงาน

“ตัวอย่างเช่น เรื่องของหน้ากากอนามัย ที่ช่วงแรกมีความขาดแคลน โดยทางกระทรวงสาธารณสุขจะต้องจัดสรรให้เพียงพอ แต่แท้จริงต้นทางการผลิตในโรงงาน มีสัญญาที่จะต้องส่งสินค้าไปต่างประเทศ สิ่งต่างๆ เหล่านี้กฎหมายฉบับเดียวจัดการไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นจากการบูรณาการจากกฎหมายอื่น ทำให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมขึ้นมาและต้องมีเพียงพอใช้ในประเทศ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า โดยสรุปแล้วภาครัฐต้องเข้มข้น เอกชนต้องเข้มแข็ง ประชาชนต้องร่วมแรงกันเพื่อให้ประเทศไทยได้ไปต่อ เนื่องจากขณะนี้กิจการต่างๆ เริ่มเปิดขึ้นมาแล้ว ภาคเอกชนต้องช่วยเราให้เข้มแข็ง และประชาชนต้องร่วมใจกัน เพื่อให้เราชนะโควิด-19