ผอ.แล็บอู่ฮั่นยัน “ไวรัสค้างคาว” ไม่ใช่โควิด-19 คล้ายสุดแค่ 79% (คลิป)

วันที่ 24 พฤษภาคม 2563 สเตรตส์ไทมส์ รายงานจากบทสัมภาษณ์ของ ดร.หวัง เยี่ยนอี้ นักภูมิคุ้มกันวิทยา และผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยไวรัสวิทยาแห่งเมืองอู่ฮั่น ในมณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของประเทศจีน ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ Sars-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 แห่งแรกของโลก ซึ่งให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 พ.ค. แต่ออกอากาศเมื่อค่ำวันเสาร์ที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยดร.หวังยอมรับว่าห้องทดลองของสถาบันได้รับและแยกเก็บตัวอย่างเชื้อไวรัสโคโรนาที่มาจากค้างคาว ซึ่งปัจจุบันทางห้องทดลองมีไวรัสชนิดนี้ทั้งหมด 3 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่ใกล้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีความคล้ายคลึงสูงสุดที่ร้อยละ 79.8 เท่านั้น

ดร.หวังระบุอีกว่าจีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมของ Sars-CoV-2 มีความคล้ายกับไวรัสซาร์สที่ร้อยละ 80 ดังนั้นงานวิจัยของ ดร.ฉือ เจิ้งหลี่ หัวหน้าโครงการศึกษาการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันไวรัสในค้างคาว ซึ่งค้นคว้าเฉพาะไวรัสซาร์สที่พบในค้างคาวมาตั้งแต่ปี 2547 นั้น บ่งชี้ให้เห็นว่าสถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่นศึกษาไวรัสสายพันธุ์อื่นที่แตกต่างจากไวรัสก่อโรคโควิด-19

ดร.หวัง เยี่ยนอี้ นักภูมิคุ้มกันวิทยา และผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยไวรัสวิทยาแห่งเมืองอู่ฮั่น

และว่าทางสถาบันได้รับตัวอย่างไวรัส Sars-CoV-2 ซึ่งขณะนั้นเป็นตัวอย่างเชื้อไม่รู้ที่มา เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2562 ก่อนนำไปหาลำดับคู่เบสในสายดีเอ็นเอในวันที่ 2 ม.ค.2563 และส่งข้อมูลเชื้อก่อโรคที่ศึกษาได้ให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันที่ 11 ม.ค.

“ในความเป็นจริงคือเหมือนกับทุกๆ คน เราไม่เคยรู้จักไวรัสสายพันธุ์นี้ว่ามีตัวตนมาก่อน ดังนั้นเชื้อจะหลุดรั่วออกจากห้องทดลองของเราซึ่งไม่เคยมีไวรัสนี้มาก่อนได้อย่างไร” ดร.หวังอธิบาย ท่ามกลางการตั้งข้อสงสัยและการโจมตีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศกร้าวว่ามีหลักฐานว่าไวรัสโควิด-19 มาจากห้องทดลองของสถาบันวิจัยไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่น