วิปสองฝ่าย เคาะถก 4 พ.ร.ก. 5 วันรวด เปิดทางอภิปรายเต็มที่ฝ่ายละ 24 ชม.

วิปสองฝ่าย เคาะถก พ.ร.ก. 4 ฉบับ 5 วันรวด 27-31 พ.ค. เปิดทางอภิปรายเต็มที่ฝ่ายละ 24 ชม. ลงมติก่อนเวลา 15.00 น. วันที่ 31 พ.ค.

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 22 พ.ค. ที่รัฐสภา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) แถลงผลการประชุมร่วมกับวิปฝ่ายค้าน ว่า ในการประชุมครั้งนี้มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาคนที่1 และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร เข้าร่วมฟังด้วย โดยที่ประชุมมีมติให้รวม พ.ร.ก. 3 ฉบับ พิจารณาไปพร้อมกัน โดยเริ่มพิจารณาวันที่ 27 พ.ค. เวลา 09.30 น. เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ 1 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 10.30 น. จะเสนอหลักการและเหตุผลของ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ 1.พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 2.พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 และ3.พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 โดยระยะเวลาที่กำหนดให้สมาชิกอภิปรายจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค. และลงมติก่อนเวลา 15.00 น. ของวันที่ 31 พ.ค.

นายวิรัช กล่าวต่อว่า จากนั้นเป็นการพิจารณา พ.ร.ก.ฉบับที่ 4 พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 โดยให้เสร็จก่อนเวลา 20.00 น.ในวันดังกล่าว ส่วนพ.ร.บ.โอนงบจะพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป แต่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาเต็มสภาหรือไม่ในวันนี้ยังไม่ได้พูดคุยกัน

ทั้งนี้การอภิปรายในทุกวันจะต้องเสร็จก่อนเวลา 20.00 น. เพื่อให้ทุกคนได้กลับบ้านทันเวลาเคอร์ฟิว 23.00 น. ทั้งนี้สัดส่วนเวลาการอภิปรายทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะได้ฝ่ายละ 20-24 ชั่วโมง โดยสัดส่วนของครม.จะอยู่ในเวลาของรัฐบาล ส่วนเรื่องการประท้วงทางมีเกิดขึ้นจะหักเวลาของฝ่ายนั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและในแต่ละวันจะตรวจสอบเวลาทั้งหมด เพราะเกรงเกิดปัญหาระหว่างการอภิปราย ส่วนวิปรัฐบาลจะนัดหารือกันวันที่ 26 พ.ค. เวลา 10.00 น.

เมื่อถามถึงสาเหตุที่รวมพิจารณา พ.ร.ก.3 ฉบับ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายค้านได้คัดค้าน นายวิรัช กล่าวว่า เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันสามารถพูดครอบคลุมไปได้ มิเช่นนั้นจะทำให้สมาชิกต้องอภิปรายทุกฉบับ แม้จะรวมอภิปรายแต่เวลาลงมติก็จะแยกกัน ซึ่งฝ่ายค้านก็เห็นด้วย