“ธรรมนัส” เล็งพักหนี้อ.ต.ก. 2,000 ล้าน ปัดซ้ำรอยบินไทย

“ธรรมนัส” เล็งพักหนี้อ.ต.ก. 2,000 ล้าน ปัดซ้ำรอยบินไทย

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การดำเนินงานขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาขาดทุนสะสม รวม 2,000 ล้านบาท ส่งผลให้ไม่เสนอของบประมาณได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง ทำให้ปัจจุบันไม่มีสภาพคล่องทางการเงิน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลการขาดทุนดังกล่าว พบว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้ตามโครงการรัฐบาล โครงการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แยกเป็นหนี้ที่มีภาระผูกพัน1,600 ล้านบาท และหนี้ต้องส่งคืนคลัง 800 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ อ.ต.ก. มีสภาพคล่องและสามารถบริหารจัดการได้ต่อไป อ.ต.ก.จึงมีแผนจะหยุดพักชำระหนี้ดังกล่าวเอาไว้ก่อน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละราย ที่ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานรัฐ อาทิ กระทรวงการคลัง ที่อ.ต.ก. ค้างชำระจากหนี้ตามมตินโยบายรัฐ 600 ล้านบาท ในส่วนนี้ จะเจรจาให้สำนักงานประมาณเปลี่ยนเป็นทุนประเดิมให้กับอ.ต.ก. แทน นอกจากนี้ ยังมีหนี้ตามโครงการของรัฐ ที่อ.ต.ก. ต้องส่งเงินคืนคลัง ก็จะขอพักชำระไปก่อน เป็นต้น

“เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า หนี้ที่มีอยู่บางส่วนค้างชำระมานานมากตั้งแต่ปี 2519 และเป็นหน้าที่อ.ต.ก. ต้องดำเนินการตามมติครม. อาทิ ซื้อปุ๋ย รับจำนำสินค้า ไม่ใช่หนี้ที่เกิดจากการดำเนินงานของ อ.ต.ก. เอง ดังนั้น ทั้งหมดอ.ต.ก. ต้องสะสางแจงบัญชีหนี้ทั้งหมดเพื่อเจรจากับเจ้าหนี้ให้แล้วภายใน 2-3 เดือนนี้ เพื่อที่จะขอตั้งงบประมาณปี 64 ได้” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า หนี้ของ อ.ต.ก. ที่ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากโครงการของภาครัฐ จะต่างจากหนี้ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน ) ที่เกิดจากการบริหารของการบินไทยเอง อีกทั้งทุกวันนี้ อ.ต.ก. ยังมีรายได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องจัดการหรือนำเข้าสู่แผนฟื้นฟู แต่ต้องจัดการหนี้ที่มีอยู่ก่อน อาจจะใช้การยืดหนี้ออกไป หยุดชำระก่อน เพื่อที่ อ.ต.ก. จะนำเงินเหล่านี้ไปบริหารจัดการ หรือมีสภาพคล่องมากขึ้น

ทั้งนี้ หากพิจารณารายได้ที่มาจากการบริหารงานของ อ.ต.ก. จริงๆ จะพบว่า ยังมีกำไร อาทิ จำหน่ายสินค้าให้กับเรือนจำ ในปีที่ผ่านมา มูลค่า 80 ล้านบาท มีกำไร 3% ส่วนในปีนี้ที่ขายได้ตลอดทั้งปี คาดว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้น และจะขยายโครงการจำหน่ายสินค้าให้กับโรงเรียน และโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มรายได้อีกด้วย

นอกจากนี้ อ.ต.ก.ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู กับสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อเชื่อมโครงการมินิ อ.ต.ก. กับร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านทุกตำบล กว่า 2 หมื่นร้านค้าประจำตำบล โดยจะนำสินค้าที่มีคุณภาพเข้ามาจำหน่าย ในส่วนนี้จะจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาบริหารงาน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหา ซึ่งจะดูผลประโยชน์ที่เสนอให้อ.ต.ก.มากที่สุดเป็นหลัก อาจจะเป็นนิติบุคคลเพียงรายเดียวเพื่อบริหารทั้งหมด หรือการแบ่งพื้นที่บริหาร ซึ่งจะสรุปผลในเร็วๆ นี้