สื่อนอกเกาะติดข่าว “การบินไทย” ชี้ปัญหามาจาก “การเมืองแทรก-คอร์รัปชั่น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักข่าวต่างประเทศจำนวนมากยังคงให้ความสนใจต่อกรณีการแก้ปัญหาในบริษัทการบินไทย ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองเพื่อฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลาง ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดย เอเอฟพีรายงานในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ว่า อ้างความเห็นของนายอุกฤษ เดชศิริ ทนายความประจำบริษัทไพรซ์สานนท์ให้ความเห็นต่อการดำเนินการดังกล่าวว่า จะช่วยให้การบินไทยไม่จำเป็นต้องชำระหนี้ตามพันธะผูกพันเดิมในระหว่างดำเนินกระบวนการฟื้นฟู ในขณะที่บรรดาเจ้าหนี้ก็จำเป็นต้องหาหนทางที่ดีที่สุด เพื่อฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ได้รับเงินบางส่วนกลับคืนมา

ในขณะที่นายเบรนแดน โซบี ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินในสิงคโปร์ ตั้งข้อสังเกตว่า การบินไทยเคยพยายามปรับโครงสร้างมาแล้วในอดีตโดยไม่เคยประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีปัญหารัฐบาลและการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจของบริษัทอย่างมาก

รอยเตอร์ระบุว่า ปัญหาของการบินไทยเป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกตกอยู่ในสภาพพิกลพิการ ก่อนหน้ากรณีการบินไทย สายการบินอาเวียงกา โฮลดิงส์ เอสเอ และ เวอร์จิน ออสเตรเลีย โฮลดิงส์ ก็ยื่นขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลายมาแล้ว

ในขณะที่ ลูซี แมทซิก ผู้อำนวยการบริหารบริษัท เอเชีย เทรลส์ คอมปะปี และ วีไอพี เจ็ทส์ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมานานถึง 50 ปี ให้ความเห็นกับ เอเชียไทมส์ ไฟแนนซ์ (เอทีเอฟ) ระบุว่า ครั้งหนึ่ง การบินไทยเคยเป็นหนึ่งสายการบินที่ดีที่สุดในโลก มีประสิทธิภาพสูง มีการบริหารจัดการเหมาะสมและมีคนกุมบังเหียน “ปัญหาในตอนนี้ก็คือไม่มีใครควบคุมบริหารการบินไทยอย่างแท้จริง” แมทซิกระบุ

อย่างไรก็ตามเอทีเอฟ อ้างว่ามีนักวิเคราะห์อีกหลายคนที่ชี้ว่า บางทีบริษัทการบินไทยอาจมีเจ้านายหลายคนมากเกินไป ในขณะที่หลายคนในจำนวนนั้นไม่มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจการบินเลย

ข้อเขียนของเอทีเอฟ ระบุว่า “ในฐานะรัฐวิสาหกิจ การบินไทยขึ้นชื่อมากว่าเต็มไปด้วยการแทรกแซงทางการเมือง โดยที่ กระทรวงคมนาคมและกองทัพอากาศ มีบทบาทสำคัญที่ผ่านๆ มา ในการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด) ตัวอย่างเช่น บอร์ดในปัจจุบันประกอบด้วยพลอากาศเอก 3 นายและพลเรือนอีก 5 คนเป็นต้น”

ในขณะที่ แมทซิก ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “กองทัพอากาศไม่เคยจำเป็นต้องทำกำไร ดังนั้นคนจากกองทัพอากาศเลยไม่เคยกังวลกับการขาดทุน”

เอทีเอฟ ยังอ้างความเห็นของ บรรยง พงษ์พานิช ชี้ให้เห็นว่า เมื่อปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากถึง 40 ล้านคน สายการบินทุกสายได้กำไร ยกเว้นการบินไทย ซึ่งขาดทุน 12,000 ล้านบาทก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19

นายบรรยงเห็นว่า การยื่นขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลาย เป็นวิธีการที่ดีที่สุดแล้วในการกันเจ้าหนี้ออกไปแล้วเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟู “เจ้าหนี้ต้องลงทุนใหม่ในการบินไทย และสิ่งนี้จะบังคับให้การบินไทยกลายเป็นบริษัทเอกชนมากขึ้นกว่าเดิม”

ข้อเขียนของเอทีเอฟ ระบุต่อไปด้วยว่า เมื่อปี 2017 สำนักงานคดีฉ้อฉลร้ายแรงของอังกฤษ เคยเปิดโปงผลการสืบสวนนาน 4 ปี ระบุว่า โรลสรอยซ์ ได้จ่ายเงินสินบนให้กับ “ตัวแทนของรัฐไทย และพนักงานของการบินไทย หลายคน” เพื่อให้ได้สัญญาขายเครื่องยนต์ ที800 ระหว่างปี 1991-2005 แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลไทยยังไม่ได้เปิดการสืบสวนสอบสวนต่อเนื่องตามมาเลย