‘สพฐ.’ สั่งผอ.เขตพื้นที่ฯ ลงพื้นที่ตรวจปัญหาเรียนทางไกลเป็นรายบ้าน

‘สพฐ.’ สั่งผอ.เขตพื้นที่ฯ ลงพื้นที่ตรวจปัญหาเรียนทางไกลเป็นรายบ้าน

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นายอำนาจ วิชยานุวัติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้อำนวยการเขตสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อำนวยการโรงเรียน เรื่องการจัดการศึกษาทางไกลในสถาการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประชุมทำความเข้าใจกับผู้อำนวยการ สพท.ทั้ง 225 เขต ทั่วประเทศ เพื่อพูดคุยปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทดลองเรียนผ่านทางไกลในช่วงนี้ เพื่อให้ผู้อำนวยการ สพท.ลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหา ซึ่งการดำเนินการระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน เป็นช่วงตรวจสอบความพร้อมการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคมเท่านั้น ตนขอเน้นย้ำว่าการเรียนสอนจะให้ออนแอร์เป็นตัวตั้ง เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าประชาชนใช้สื่อออนไลน์ในการดึงสัญญาณโทรทัศน์ไปดูผ่านมือถือจำนวนมาก แสดงความว่าประชาชนมีความสนใจในการเรียนออนไลน์ ทำให้สพฐ. คิดว่าการเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ

“ผมเน้นย้ำเป็นผู้อำนวยการ สพท.ทุกแห่ง ว่าจะต้องลงพื้นที่ตรวจปัญหาเป็นรายโรงเรียน รายกรณี ดูปัญหาของผู้ปกครองรายคน ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะแก้ไขอย่างไร หากติดขัดอะไรให้รายงานมายัง สพฐ. ส่วนปัญหาที่พบบ่อยคือ โทรทัศน์ไม่สามารถรับสัญญาณของมูลนิธิ​การศึกษา​ทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ดีแอลทีวี) ซึ่งจะแก้ปัญหาโดยให้ครูที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีลงไปช่วยปรับจูน พร้อมกับพบปัญหาบางบ้านไม่มีกล่องรับสัญญาณดิจิทัล ซึ่งสพฐ.จะหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่สนับสนุนกล่องรับสัญญาณดิจิทัลให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวน 2 ล้านกล่อง ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่านักเรียนมีความต้องการกล่องจำนวน 1.5 ล้านเครื่องแล้ว ทั้งนี้ต้องศึกษารายละเอียดอีกครั้งว่าจะแก้ไขปัญหาและเติมเต็มอย่างไรบ้างเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มที่” นายอำนาจ กล่าว

นายอำนาจ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบปัญหาความไม่เข้าใจ และกังวลใจของผู้ปกครองว่าการเรียนช่วงนี้จะนับเกรดและประเมินผลอย่างไร ซึ่งตนขอย้ำว่าการเรียนช่วงนี้เป็นการทดลอง เป็นการเตรียมความพร้อม และให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อีกประเด็นคือผู้ปกครองบ่นว่ามีโทรทัศน์เครื่องเดียวแต่มีลูกหลายคนจะทำอย่างไร ขออธิบายว่าการออกอากาศจะมีรีรันให้นักเรียนดูได้หลายรอบ หรือนักเรียนอาจจะไปเรียนบ้านเพื่อนที่เรียนอยู่ชั้นเดียวกันก็ได้

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า เมื่อผู้อำนวยการ สพท.ลงพื้นที่ และรายงานปัญหามา สพฐ.จะทำการสรุปภายรวมปัญหาจำนวน 3 ครั้ง คือ ช่วงที่ 1 จะสรุปผลสิ้นเดือนพฤษภาคม เพื่อแจ้งสื่อมวลชนและประชาชนทราบว่าพบปัญหาอะไร และจะแก้ไขอย่างไรบ้าง ช่วงที่ 2 จะสรุปผลกลางเดือนมิถุนายน เพื่อดูว่าสิ่งที่แก้ไขไปแล้วจะต้องเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ และช่วงที่ 3 จะสรุปผลสิ้นเดือนมิถุนายน เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดทั้งหมด

“เชื่อมั่นว่าขณะนี้สังคมเข้าใจแล้ว ว่าการเรียนช่วงนี้คืออะไร ผมคิดว่าการเรียนเช่นนี้จะลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน ส่วนเนื้อหาที่มีข้อผิดพลาด สพฐ.หารือกับดีแอลทีวีแล้ว ซึ่งทางดีแอลทีวีได้ขอบคุณผู้ที่แจ้งปัญหา ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่จะทำการปรับแก้ โดยเฉพาะการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษที่พบปัญหา เช่น มีปัญหาด้านการออกสำเนียงของครู ทาง สพฐ.ประสานกับดีแอลทีวี ให้ครูที่เป็นมาสเตอร์เทนเนอร์ในการสอนครูแกนนำภาษาอังกฤษ English Boot Camp มาบันทึกเทป เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป”นายอำนาจ กล่าว