คลายสงสัยการดำเนินคดีข้อหาทารุณกรรมสัตว์ กรณี พี่เตี้ย มช.

การดำเนินคดีข้อหาทารุณกรรมสัตว์

ช่วงเดือนที่ผ่านมามีคดีที่เกี่ยวข้องกับการทารุณกรรมสัตว์และประชาชนให้ความสนใจ หลายกรณีซึ่งในแง่กฎหมาย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 นั้น มีหลายคดีที่เกิดขึ้นและมีการตัดสินแล้ว และมีอีกหลายคดีที่กำลังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เช่น
จากกรณีเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 มีเหตุการณ์คลิป ทำร้ายสุนัขเพศผู้ พันธุ์พิทบูลสีดำอายุ 8 เดือน โดยการใช้รองเท้าตีที่ปากสุนัขอย่างแรง 5 ครั้ง และใช้กระสอบบรรจุดินทุ่มไปที่ลำตัวสุนัข 3 ครั้ง ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานทางร่างกายและจิตใจ อันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 3 ประกอบมาตรา 20 และบทลงโทษมาตรา 31 นั้น คดีดังกล่าว

ศาลแขวงชลบุรี พิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ 3302/2563 วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องจริง และได้รับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือนและปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงโทษกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ห้ามจำเลยกระทำใด ๆ อันเป็นการทารุณกรรมสัตว์ทุกชนิด และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการทางสังคมหรือบริการสาธารณะประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลย ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ มาตรา 30 ห้ามมิให้จำเลยครอบครองสุนัขของกลางต่อไป และให้จำเลยมอบสุนัขของกลางให้มูลนิธิศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดชลบุรี เป็นผู้ครอบครองของกลางแทน

สำหรับกรณี สุนัข เตี้ย มช. ตอนนี้ ส่วนตัวมองว่า สิ่งสำคัญคือการต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ยุติเสียก่อน ทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุและหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อการยืนยันว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายหรือไม่ โดยต้องใช้กระบวนการยุติธรรม และใช้หลักกฎหมายที่มีอยู่มาปรับใช้ และสำคัญที่สุดก็คือเจตนาของผู้กระทำที่จะรู้ดีที่สุดว่าได้กระทำไปเพราะอะไร ถ้า เตี้ย เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ ที่ไม่มีเจตนาทำร้ายหรือฆ่าของผู้กระทำ ก็พอทำใจยอมรับได้เพราะเป็นธรรมดา ธรรมชาติของโลกใบนี้ ของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของทุกชีวิต แต่ถ้าอีกมุมหนึ่งในแง่กฎหมายก็มองว่า ด้วยวิสัยการขนส่งสัตว์ หรือการนำสุนัขไปเที่ยวนั้น มีการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีหรือไม่ ถ้าไม่ดีก็อาจจะเข้าข่ายความผิดตาม เรื่องการจัดสวัสดิภาพ ขนส่งสัตว์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 24 ประกอบมาตรา 32 มีโทษปรับสูงสุด 40,000 บาท แต่ต้องมาพิสูจน์ความเป็นเจ้าของสุนัข ส่วนการจะเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์หรือไม่นั้น หรือมีการวางแผนเตรียมการฆ่าไว้ก่อน ก็ต้องมีพิสูจน์ความสัมพันธ์ของการกระทำและผลของการกระทำรวมทั้งเจตนาของผู้กระทำ ด้วยประจักษ์พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ

ซึ่งหลายคนอาจตั้งข้อสังเกตว่า การกล่าวอ้างว่าของผู้ต้องสงสัยนั้น มีน้ำหนักมากน้อยเพียงไร เช่น การให้สุนัขนั่งรถจักยานยนต์แล้วกระโดดลง โดยวิสัยวิญญูชนทั่วไปก็พอรู้หรือเจตนาเล็งเห็นผลได้อยู่แล้วว่า อาจจะทำให้รถเหยียบซ้ำหรือทำให้สุนัขบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ แต่ทำไมไม่ป้องกันผลของการกระทำนั้นไว้ก่อน และโดยสภาพเมื่อสุนัขโดนรถเหยียบแล้ว สุนัขจะเสียชีวิตทันทีเลยหรือไม่ หรือปล่อยให้สุนัขนั้น ต้องทนทุกข์ทรมานจนตาย แล้วทำไมไม่นำสุนัขไปหาสัตวแพทย์เพื่อตรวจรักษาหรือพิสูจน์ยืนยันข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้น ทำไมต้องนำร่างไปทิ้งปกปิดอำพรางทันที ในเมื่อเป็นอุบัติเหตุ แล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นทำไม่ไม่แจ้งให้คนอื่นทราบ ยิ่งเตี้ยเป็นสุนัขที่คนติดตามให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เมื่อเป็นข่าวแล้วทำไมไม่แสดงความบริสุทธิ์ใจทั้งที่ผู้ต้องสงสัยก็เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ มีหน้าที่การงานฐานทางสังคมที่ดี เรื่องดังกล่าวก็ไม่น่าจะพ้นวิสัยที่จะไม่สามารถป้องกันได้ ทั้งหมดก็เป็นแค่บางส่วนที่หลายคนตั้งข้อสังเกต

ซึ่งส่วนตัวก็อยากให้มีการใช้หรือบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง ซึ่งก็ต้องมีการพิสูจน์ตามกระบวนการกฎหมายและขอให้กำลังใจทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการแสวงหาความจริงและความยุติธรรมเพื่อสร้างมาตรฐานทางศีลธรรมอันดีของประชาชนต่อไป