อานิสงส์ไวรัสดันบะหมี่โตพุ่ง | โควิดป่วนอสังหาฯ ทรุดหนัก | ท่องเที่ยวดิ่งเหวรายได้วูบ

แฟ้มข่าว

ทสภ.ประมูลปูคอนกรีตแท็กซี่เวย์

นายอนันต์ หวังชิงชัย รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท.เตรียมเปิดประกวดราคา (ประมูล) โครงการงานจ้างก่อสร้างซ่อมแซมพื้นผิวทางอากาศยานด้วยวัสดุปอร์ตแลนด์ซีเมนต์คอนกรีต ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะ (เฟส) ที่ 1 พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 3.95 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) วงเงินก่อสร้างประมาณ 1,300 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับพื้นผิวในการรองรับเครื่องบิน รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัย และแก้ไขปัญหาเรื่องผิวทางอย่างถาวร ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างรายละเอียดการประมูล คาดว่าจะเปิดประมูลได้ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ได้ผู้รับจ้างประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน และเริ่มปรับเปลี่ยนพื้นผิวได้ประมาณเดือนตุลาคม 2563 นี้ โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 ปีครึ่ง โครงการดังกล่าวเป็นการปรับเปลี่ยนพื้นผิวบริเวณทางขับ (แท็กซี่เวย์) จากปัจจุบันใช้ยางมะตอย (แอสฟัลต์) ปรับเป็นผิวคอนกรีตแทน

โควิดป่วนอสังหาฯ ทรุดหนัก

นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนอาจทำให้หลายบริษัทเกิดปัญหาสภาพคล่อง เพราะยอดขายและรายได้ไม่สอดคล้องกับภาระหนี้และภาระต้นทุนที่มีอยู่จนต้องขายสินทรัพย์ รวมถึงลดพนักงานเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังจากวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไป เพราะหลายบริษัทจะเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ หรือหุ้นกู้ และจำเป็นต้องพึ่งเงินกู้ซอฟต์โลนของรัฐ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐจะต้องกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยกู้เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันหลายบริษัทจะต้องลดภาระด้วยการลดเงินเดือน หรือให้พนักงานออก รวมถึงการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะชะลอตัวจากซัพพลายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ดีมานด์เพิ่มขึ้นไม่ทันจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จนทำให้เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายในหลายพื้นที่

ท่องเที่ยวดิ่งเหวรายได้วูบ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากโควิด-19 ระบาด คาดว่าจำนวนและรายได้ภาคการท่องเที่ยวลดลงมาก โดยต้นปี 2563 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินปี 2563 จะมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศอยู่ที่ 3.16 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น นักท่องเที่ยวต่างชาติ 40.78 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.5% สร้างรายได้ 2.03 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% ส่วนคนไทยเที่ยวไทย 172 ล้านคน-ครั้ง เติบโต 4% สร้างรายได้ 1.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% แต่ผลกระทบจากโควิด-19 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ลดลงถึง 59% โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 18 ล้านคน และมีรายได้ 8.28 แสนล้านบาท ส่วนคนไทยเที่ยวไทยเพียง 70 ล้านคน-ครั้ง รายได้เพียง 4.02 แสนล้านบาท โดยสถานการณ์ท่องเที่ยวเดือนมีนาคม 2563 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.2 แสนคน หดตัว 76.41% รายได้เพียง 4 หมื่นล้านบาท หดตัว 77.58% ส่วนไทยเที่ยวไทย 3.83 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 65.42% รายได้ 3 หมื่นล้านบาท หดตัว 64.56% ส่งผลให้ไตรมาสแรกนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแค่ 6.69 ล้านคน หดตัว 38.01% รายได้ 3.3 แสนล้านบาท หดตัว 40.39% ส่วนไทยเที่ยวไทย 24.10 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 29.52% รายได้ 1.8 แสนล้านบาท หดตัว 33.65%

อานิสงส์ไวรัสดันบะหมี่โตพุ่ง

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เปิดเผยว่า บริษัทร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และร้านค้าปลีก ภายใต้โครงการ “พาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน” นำมาม่าอัพทุกรสชาติ จำหน่ายในราคา 10 บาทต่อถ้วย จากราคา 13 บาท ตลอดเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นครั้งแรกของมาม่าอัพในการลดราคา และบริษัทจะเสียรายได้ 50 ล้านบาท ที่จะประหยัดให้กับประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาด โดยยอมรับว่ายอดขายมาม่าเพิ่มสูงขึ้นมากในระยะแรกของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทย โดยไตรมาสแรกปีนี้ มาม่าแบบซองโต 20% แบบถ้วยโต 10% เฉลี่ยทุกแบบโต 8% โดยมาม่ามีแชร์ประมาณ 50% ของตลาดรวมทุกยี่ห้อ และที่เกิดขึ้นครั้งแรกคือมูลค่าตลาดรวมปีนี้เพิ่มเป็น 22,000 ล้านบาท จากปีก่อน 19,000 ล้านบาท ถือว่ามากสุดเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยหลักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรัฐมีมาตรการล็อกดาวน์อยู่บ้าน ทำให้เกิดการซื้อมากกว่าปกติ เฉพาะแบบถ้วยยอดขายสูงถึง 400 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมาม่ามีแชร์ 55%

ผุดมาตรการอุ้มไมโครเอสเอ็มอี

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า กรอ.ได้สำรวจผลกระทบและทราบถึงปัญหาของผู้ประกอบการ ล่าสุดอยู่ระหว่างจัดทำมาตรการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะผู้ประกอบการระดับเล็กมาก (ไมโครเอสเอ็มอี) ให้สามารถนำเครื่องจักรมาแปลงเป็นสินทรัพย์ ใช้เป็นเงินทุนนำกลับมาใช้จ่ายหมุนเวียนในธุรกิจได้ โดยจะเป็นหนึ่งในมาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะเสนอใช้งบฯ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท จากวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โครงการนี้จะใช้วงเงินหลักร้อยล้านบาท เพื่อดำเนินการสำรวจไมโครเอสเอ็มอีที่เข้าข่าย อบรมความรู้ คาดเปิดตัวโครงการได้ภายในมิถุนายน โดยรูปแบบโครงการ กรอ.จะลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนจำนวนหนึ่ง จากนั้นจะเปิดให้เอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี มาจดทะเบียนเครื่องจักร หรือเครื่องมือในการประกอบอาชีพ จากนั้นจะประเมินราคาเครื่องจักร เพื่อนำไปเป็นตัวค้ำประกัน ผ่านกลไกของสถาบันการเงินที่เข้าร่วม โดยสถาบันการเงินจะเป็นผู้ปล่อยกู้ให้

กำหนดวงเงินสินเชื่อเริ่มต้น 2 แสนบาท-1 ล้านบาท และกำหนดอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ