โฆษกประชาชาติชี้ ‘ธปท.’ ทำดี แต่ต้อง ‘รู้ทัน’ เพทุบายของแบงก์

โฆษกประชาชาติชี้ ‘ธปท.’ ทำดี แต่ต้อง ‘รู้ทัน’ เพทุบายของแบงก์

ธทป. – เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 0.01 แก่สถาบันเงินเพื่อนำเงินไปให้สินเชื่อเสริมสภาพคล่องแก่วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งสิ้น 3,070,177 ราย แยกเป็น (ก) ขนาดเล็ก 3,027,525 ราย หรือร้อยละ 98.6 ของจำนวน SMEs ทั้งหมด และขนาดกลาง จำนวน 40,652 ราย หรือร้อยละ 1.4 ของจำนวน SMEs ทั้งหมด แต่ต้องเป็น SMEs ที่ประสบปัญหา และได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีวงเงินรวม 500,000 ล้านบาท เป็นเวลา 2 ปี และแต่ละ SMEs จะได้รับเงินกู้ไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมถึง ต้องเป็นลูกหนี้ที่ผ่อนชำระปกติ และค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ยังไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยวงเงินที่ SMEs แต่ละรายกู้ได้ ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้ ณ สิ้นธันวาคม 2562

นายสุพจน์กล่าวอีกว่า น่าสนใจ และน่าชื่นชม ธปท.ที่กระโดดรับนโยบายทางการเมือง และใช้กลไกทางการเงินประคับประคองระบบเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังถูกกระหน่ำจากวิกฤตโควิด-19 และเป็นเหตุให้กิจการต้องถูกปิด ผู้ประกอบการบางรายต้องล้มหายตายจาก ฯลฯ แต่ถ้าจะให้มรรคเกิดผลตามเจตนากันจริงๆ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ ธปท. ต้องทำ เช่น 1.ต้องติดตามดูว่าบรรดาธนาคารพาณิชย์ และธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ (ธนาคาร) ที่นำเจตนารมณ์ของรัฐ และวิธีการของ ธปท.ไปอ้างอิง หรือทำตามมากน้อยเพียงใดแค่ไหน

2.จะป้องกันอย่างไรเพื่อมิให้ธนาคารนำเงินไปให้ลูกหนี้ปัจจุบันกู้เงินในส่วนนี้ก่อน เพราะทั้งทำได้ง่ายๆ ด้วยเทคโนโลยีทางการเงินปัจจุบัน คือ ทำเพียงแค่เพิ่มวงเงินเข้าไปแล้วทำสัญญาต่อท้าย ไม่ต้องวิเคราะห์ประเมินอะไรกันมากมาย แถมมีประวัติและข้อมูลอยู่แล้ว โดยคิดดอกเบี้ยเต็มเพดาน คือ ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ตามเงื่อนไขที่ ธปท.กำหนด ซึ่งเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายของธนาคารเพื่อให้สินเชื่อต่อสัญญาซึ่งมีเอกสารและข้อมูลครบถ้วนก็ไม่น่าจะถึงร้อยละ 0.89 ต่อราย เพราะต้นทุนดำเนินการโดยรวมเฉลี่ย (ไม่นับสินเชื่อ) ของธนาคารอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.25

3.ต้องกำหนดประเภท หรือชนิดหลักประกันที่ SMEs จะใช้ประกันเงินกู้เงิน เพราะถ้าปล่อยให้เป็นแบบปัจจุบัน SMEs ส่วนมากจะกู้มิได้เพราะไม่มีที่ดิน หรือหลักทรัพย์ถาวรซึ่งธนาคารต่างๆ ชอบรับเอาสินทรัพย์ ข้างต้น เป็นหลักประกัน หรืออย่างเบาะๆ ก็ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันซึ่งผู้กู้ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อให้ บสย.มากน้อยก็เป็นร้อยละของวงเงินกู้ และหลักทรัพย์ก็ต้องถูกประเมินราคา เสียค่าประเมินหลักทรัพย์ ค่าจดจำนอง ค่าประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อเต็มวงเงิน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนของ SMEs หรือไปๆ มาๆ ค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่ออาจะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยปกติ ทั้งนี้ ยังไม่นับค่าปากถุง ที่รู้ และเรียกเก็บกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และธนาคารพาณิชย์บางแห่งยังหักเงินงวดไว้อีก 6 เดือน ฯลฯ จึง ไม่มั่นใจว่างานนี้ ช่วยผู้ประกอบการอย่างไร

4.จำนวนเงินที่ SMEs จะกู้ได้ ดูๆ แล้วมันเหมือนกับจะไม่ช่วยอะไรได้สักเท่าไหร่ เพราะมีการกำหนดเอาไว้ว่าให้กู้แต่ละรายไม่เกินร้อยละ 20 ของหนี้สินที่เหลืออยู่ หรือหนี้ค้างเหลือน้อยก็กู้ได้น้อย และหนี้ค้างเหลือเยอะก็กู้ได้เยอะ จึงทำให้ SMEs ที่ชำระหนี้ไปเกือบหมดก็กู้ได้น้อยตามสัดส่วน และของใหม่ซึ่งราคาถูก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อรวมๆ และจ่ายนู่นนี่นั่นแล้วถูกจริงหรือเปล่า และไม่มั่นใจว่า ธปท.ใช้ตรรกะใดในการคิด และทำไมไม่เอาวงเงินที่เคยได้รับอนุมัติเป็นตัวตั้ง เพราะนั่นเป็นทั้งความสามารถทางธุรกิจและกำลัง หรือความสามารถในการชำระหนี้ที่วิเคราะห์กันมาถี่ถ้วนดีแล้ว ผู้ประกอบการจะได้มีทุนพอเอาตัวรอดได้

5.ต้องตรวจสอบให้ถ้วนถี่เพราะมีให้เห็นประจำ คือเมื่อมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือดอกเบี้ยผ่อนปรน (softloan) SMEs บางแห่งที่ได้เงินกู้ ก็จะนำไปให้ SMEs รายอื่นที่กู้เงินจากธนาคารไม่ได้กู้ต่อ โดยการเอาเช็คมาแลก และคิดกันขั้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 5 ต่อเดือน และมั่นใจว่า เที่ยวนี้มีอีกแน่นอน อย่ามาบอกว่าเขียนห้ามเอาไว้แล้ว เชื่อเหอะแค่เขียนแล้วไม่ตามไปกำกับรับรองได้ว่าถูกหัวเราะเยาะ

6.ธปท.ตามเล่ห์เหลี่ยมธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ไม่ทัน และเมื่อตรวจพบก็มักมีกลไก และวิธีการชี้แจง จนทำให้เชื่อได้ว่าสิ่งที่ทำไปแล้ว ตรงตามเจตนารมณ์ของ ธปท.

7.ผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารพาณิชย์ไทยแทบทั้งหมด มิใช่คนไทย และคนต่างชาติ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนต้องมุ่งกำไร และไม่มีความจำเป็นที่ต้องช่วยสนับสนุนธุรกิจเล็กๆ ของคนไทย หรือถ้าทำก็ทำเพียงให้เห็นเป็นพิธีเท่านั้น

8.นโยบายไม่ได้ผล เพราะธนาคารโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์มิได้ขาดสภาพคล่อง และสามารถนำเอาเงินของธนาคาร (เอง) มาปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูง และได้ส่วนต่าง (margin) ที่มากกว่า softloan และยังสามารถรวมค่าธรรมเนียมสารพัดแบบที่ไม่เคยลดราวาศอกกับ SMEs ที่มาขอกู้แบบเต็มเหนี่ยวเหมือนเวลาปกติ

9.การปล่อยสินเชื่อ softloan จาก ธปท.จะได้ส่วนต่าง (margin) ของกำไรต่ำ และยังเพิ่มขั้นตอนการทำงาน สู้เอาเงินฝากที่มีมาปล่อยง่ายกว่า กำไรดีกว่า ต้นทุนก็ไม่ได้มีอะไรเพิ่มมากมาย เพราะเป็นลูกหนี้เก่ามีประวัติอยู่ที่ธนาคารแล้ว

10.SMEs ในยามนี้ ไม่มีทางเลือก และขอเพียงให้ได้เงินมาหมุนทันการณ์ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็เอา และไม่ได้ตัดสินใจกู้เพราะดอกเบี้ยถูก ดอกเบี้ย softloan ถูกจริง อยากได้ แต่ถ้าได้เงินมาไม่ทันใช้ในธุรกิจ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร และ SMEs ส่วนใหญ่ไม่รอ softloan

11.นโยบาย softloan ดีที่หลักการ แต่ธรรมชาติ และกลไกมันไปคนละทาง และ ธปท.ต้องเรียนรู้ พร้อมทั้งอยู่กับความเป็นจริง และต้องดูด้วยว่า softloan ที่ปล่อยกู้เป็นไปเพื่อสร้างภาพ หรือเพียงเพื่อให้ ธปท.ไม่เสียหน้าเท่านั้น และยังพบอีกว่า มีธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจบางแห่งไม่รับคำขอสินเชื่อ เพราะยอดเต็ม และยังผลักไสไล่ส่งให้ SMEs ไปกู้กับธนาคารพาณิชย์ และฮั้วกันเก็บเบี้ยใบ้รายทาง แบบหน้าตาเฉย

และ 12.ต้องขอความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้จัดทำตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPI) เพื่อใช้ในการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งในเชิงปริมาณ กล่าวคือสามารถปล่อยสินเชื่อได้เป็นไปตามเป้า หรือจำนวนที่ตกลงกันหรือไม่ และในเชิงคุณภาพ ว่า (ก) ปล่อยถูกคนหรือไม่อย่างไร (ข) มีการควบคุมดูแลตามกฎ หรือกติกาที่ตกลงกันหรือไม่ (ค) ผู้กู้มีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่อย่างไร (ง) เม็ดเงินที่ปล่อยกู้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามความคาดหวังของรัฐบาลหรือเปล่า และ (จ ) หากเกิดหนี้เสียจะมีการแบ่งส่วนกันรับผิดชอบระหว่าง ธปท.และสถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสากิจนั้นๆ หรือไม่ อย่างไร

นายสุพจน์กล่าวว่า เงิน 500,000 ล้านบาท ไม่มากมาย และถ้านำไปให้ SMEs ขนาดกลาง (M) จำนวน 40,652 รายจะได้เงินกู้โดยเฉลี่ยเพียงรายละ 12.30 ล้านบาท ซึ่งนับว่าน้อยมาก แต่ถ้ายอมเสียเวลา และนำเงินไปกระจายให้ SMEs ขนาดย่อม (S) ที่มีอยู่ 3,029,525 ราย (แม้ว่าไม่ทั้งหมด) ซึ่งทำรายได้ให้ประเทศรวมๆ แล้ว ปีละ 650,000 ล้านบาท จะมีประโยชน์ และทั่วถึงมากกว่า อีกครั้ง แต่ละรายก็ต้องการเงินไม่มาก

“การทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อเต็มวงเงิน ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามด้วยเช่นกัน เพราะผู้เอาประกันต้องเสียเบี้ยประกันโดยเฉลี่ยเท่ากับ 20,000 บาท ต่อวงเงิน 1 ล้านบาท เช่น ถ้าได้รับอนุมัติสินเชื่อจำนวน 20 ล้านบาท ผู้เอาประกันต้องเสียเบี้ยประกัน จำนวน 400,000 บาท หรือวงเงิน 500,000 ล้านบาท ผู้กู้หรือ SMEs ต้องเสียค่าเบี้ยประกันรวม 2,880 ล้านบาท และในจำนวนนี้จะถูกแยกออกเป็นค่าตอบแทน (commission) ประมาณร้อยละ 18 หรือ เท่ากับ 518 ล้านบาท ซึ่งจะมีการจัดสรร หรือแบ่งจ่ายให้กับผู้บริหาร พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ ลดหลั่นกันไปนับตั้งแต่สำนักงานใหญ่ สำนักงานภาค สำนักงานเขต และสำนักงานสาขา” นายสุพจน์ กล่าว

นายสุพจน์กล่าวต่อว่า ธปท.ต้องรีบตรวจสอบ และติดตามดูด้วยว่าในระยะ 3-5 ปี บรรดา SMEs ที่ได้รับสินเชื่อจำนวน 500,000 ล้านบาท จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศสรตะรวมแล้วเท่ากับ 500,000 ล้านบาท หรือมากกว่า หรือไม่อย่างไร อีกทั้ง ต้องไม่ปล่อยให้ธนาคารทำงานตามอำเภอใจ และได้เป้าโดยมุ่งให้สินเชื่อเพิ่มกับลูกค้าเก่า ใช้หลักทรัพย์ที่จำนองไว้เดิม และใช้ บสย.ค้ำประกัน บสย.ค้ำ พร้อมคิดค่าธรรมเนียม (ที่แกล้งทำเป็นลืมว่า ธปท.ขอให้ผ่อนปรน) และที่หนักคือ มีธนาคาร (บนถนนสายยาว) คิดดอกเบี้ยสินเชื่อร้อยละ 4 ต่อปี แถมไม่สนใจ ธปท.เพราะทราบดีว่า ธปท.คือเสือกระดาษ และปากว่าตาขยิบอยู่เนืองๆ

“ที่สำคัญ (ขณะนี้) ดูราวกับว่า ธปท.ถูกครอบงำ และอาจถูกชักจูงโดยฝ่ายการเมือง เพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งจนทำให้ขาดเอกภาพและหลงลืมอัตลักษณ์ แถมยุคนี้ยังมีการแต่งตั้งบุคคลที่เคยเป็นผู้บริหารสถาบันการเงิน และถูก ธปท.กล่าวโทษเป็นกรรมการ ธปท.อีกด้วย” นายสุพจน์ กล่าว