นักวิชาการจี้รัฐบาลกล้าหาญ ชี้เวลาดีผ่าตัด ‘การบินไทย’ สลายขั้วอิทธิพล

นักวิชาการจี้รัฐบาลกล้าหาญ ชี้เวลาดีผ่าตัด ‘การบินไทย’ สลายขั้วอิทธิพล

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงแผนฟื้นฟูการบินไทยที่จะเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ว่า ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าสภาพการบินไทยกำลังก้าวไปสู่ขั้นตอนของการดำเนินการล้มละลาย ซึ่งตามความตั้งใจของกลุ่มบางกลุ่ม อย่างสหภาพการบินไทยที่วางสโลแกนไว้ว่าเป็นสายการบินแห่งชาติจะต้องเปลี่ยนมุมมองไป กล่าวคือการบินไทยจะไม่เหมือนเดิมอีก จะนำไปสู่การผ่าตัดแยกส่วน ขยายตัว หรือแตกเป็นบริษัทลูกเพื่อเร่งฟื้นฟูกิจการโดยเร็วที่สุด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีนายทุน หรือนักธุรกิจที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนถือหุ้น แน่นอนว่าเม็ดเงินเหล่านี้จะนำไปสู่การปรับความน่าเชื่อถือของกิจการการบินไทยในรูปโฉมใหม่ได้

ผศ.วันวิชิตกล่าวว่า สำหรับแผนฟื้นฟูที่มีการค้ำประกันเงินกู้ 5.4 หมื่นล้าน และการเพิ่มทุนอีก 3.8 หมื่นล้านนั้น หลายคนมองว่าเงินอาจจะถูกนำไปสู่การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่ เพราะเงิน 5.4 ล้านบาท สามารถนำไปจ่ายหรือชดเชยเยียวยาให้แก่พนักงาน ซึ่งแหล่งข่าวในการบินไทยเองก็เคยกล่าวว่าสภาวะของบริษัทไม่มีเงินสดที่จะจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน ดังนั้น การที่จะใช้งบประมาณส่วนนี้มาชดเชยพนักงาน หรือปรับโครงสร้างขององค์กรที่ปฏิเสธไม่ได้คือจำนวนพนักงานที่ต้องหายไปไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งสายการบินหลักของแต่ละประเทศจะมีพนักงานและบุคลากรในสายการบินประมาณ 8,000 คนในองค์กร แต่สายการบินไทยมี 22,000 คน โดยประมาณ มีขนาดองค์กรที่ใหญ่โต ดูเทอะทะ อุ้ยอ้าย ด้วยความที่ใหญ่โตนี้แฝงไปด้วยระบบอุปถัมภ์ และเครือข่ายของนักการเมืองแต่ละขั้วกลุ่มที่ผลัดกันเข้ามาเป็นรัฐบาล ประกอบกับการมีพรรคพวก ส่งผลให้การบินไทยไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก เวลานี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่สุดในการสลายอิทธิพลกลุ่มขั้วของมุ้งการเมืองภายในการบินไทยที่ฝังรากลึกมานาน ต้องยอมรับสภาพ เข้าใจว่าภาพลักษณ์และความผูกพันที่การบินไทยสั่งสมต้นทุนมา 60 ปี ทำให้คนมองภาพการบินไทยในภาวะที่เป็นบวก แต่เมื่อประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงกระทบต่อรายได้ของการบินไทย

ผศ.วันวิชิตกล่าวอีกว่า กรณีของการบินไทย สามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สายการบินแห่งชาติของหลายประเทศ เช่น สวิสแอร์ ของสวิตเซอร์แลนด์ หรือเจแปนแอร์ไลน์ ของญี่ปุ่น ก็เคยประสบความสำเร็จในการผ่าตัดฟื้นตัวองค์กรมาแล้ว อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องของการสูญเสียเกียรติภูมิ ขอให้มองว่าเป็นการสร้างโฉมใหม่เพื่อสร้างความมั่นใจให้แข็งแกร่งกว่าเดิม

“แนวทางที่พรรคก้าวไกลเสนอว่า ให้มีความเป็นเอกชนมากขึ้นนั้น เป็นรูปแบบของสากลนิยม เมื่อเอกชนเข้ามาถือหุ้น หรือปรับโครงสร้างองค์กร แน่นอนว่าจะต้องแคร์ภาพลักษณ์ รูปแบบการบริการจึงน่าจะดีขึ้นมากกว่าเดิม การแข่งขันซึ่งหลายคนหวั่นวิตกว่าจะเป็นเรื่องค่าตั๋วที่แพงขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ คิดว่าระบบของเอกชนจะมีโปรโมชั่นและการแข่งขันแบบเอกชน ที่มีความเสรีกว่า อย่าลืมว่าสายการบินโคเรียนแอร์ของเกาหลีก็ยังเคยประสบปัญหา ซึ่งภายหลังแก้ไขปัญหาโดยให้เอกชนมาถือสัดส่วนครองหุ้นของสายการบินได้ ตัวอย่างจากหลายประเทศที่ให้เอกชนเข้ามาในสายการบินหลักของประเทศ พบว่ามีทิศทางที่จะเติบโตได้ดีกว่าที่รัฐจะเข้ามาควบคุมเอง” ผศ.วันวิชิตกล่าว และว่า ควรจะมีการปรับสัดส่วนหุ้นเพื่อเป็นการลดพื้นที่ครอบงำ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีภาพลักษณ์น่าเชื่อมั่นเข้ามาลงทุนถือสัดส่วน รูปแบบของสหภาพ หรือกลุ่มอิทธิพลต่างๆ ที่เคยใกล้ชิดกับกลุ่มขั้วการเมืองจะสลายไปในตัว ภาพผลประโยชน์ที่ถูกชอนไชในการบินไทยจะค่อยๆ หายไป

“รัฐบาลต้องใช้ความกล้าหาญและใจเด็ด ยอมรับว่าอาจจะต้องสูญเสียกระบอกเสียงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพันธมิตร ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลโดยเฉพาะ รัฐบาลคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องมีความกล้าหาญเพราะไม่มีโอกาสใดแล้วที่จะผ่าตัดการบินไทยให้ดีขึ้น เท่ากับรัฐบาลคุณประยุทธ์เอง” ผศ.วันวิชิตกล่าว