นักศึกษาร่วมเผยความในใจ 10 ปี หลังเมษา-พฤษภา 53 พวกเขารับรู้อะไร?

ที่มาภาพ : redphanfa2day.wordpress.com/

วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 เพจยูดีดี นิวส์ (UDD News) ได้เผยแพร่บทความแสดงการรำลึกในวาระ 10 ปี เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 โดยฟากของนักศึกษาที่ได้ร่วมเขียนคือ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และประธานสหภาพประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกิจกรรมทางการเมือง

“จุฑาทิพย์” 19 พฤษภาคม 2553 ถึง 19 พฤษภาคม 2563 : 10 ปีแห่งการรับรู้ของข้าพเจ้า

ในปี 2553 ข้าพเจ้ามีอายุ 12 ปี และกำลังเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนที่ตัวอำเภอ นอกจากที่ข้าพเจ้าจะเป็นนักเรียนประถมคนหนึ่งแล้ว ข้าพเจ้ายังมีความสนใจการเมืองพอสมควร จากการสนับสนุนของแม่ที่ชี้แนะแนวทางและเปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ หากจำไม่ผิดขณะนั้นข้าพเจ้าลงสมัครประธานนักเรียนของโรงเรียนประถมและชนะการเลือกตั้งจนได้ตำแหน่งมา ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีคำพูดติดปากเขาคือ “ประชาชนต้องมาก่อน” แต่ข้าพเจ้าไม่ได้มีความเข้าใจว่าหมายถึงอะไร เพียงแต่ดูจากสื่อกระแสหลัก แล้วคำนี้ถูกพูดถึงบ่อยมากจนข้าพเจ้านำมาดัดแปลงเป็นสโลแกนที่ใช้หาเสียง คือ “นักเรียนต้องมาก่อน” ข้าพเจ้าและเพื่อนยังคงล้อเล่นกับคำนี้กันอย่างสนุกสนานว่า “ประชาชนมาก่อนก็ถูกแล้ว ผู้นำชอบมาสายกัน”
.
ในตอนนั้นข้าพเจ้านอกจากจะเป็นเด็กประถมแล้วก็ยังมีหน้าที่เป็นประธานนักเรียนพ่วงด้วย ทุก ๆ เช้าข้าพเจ้าจะมีหน้าที่นำสวดมนต์ และบางวันมีหน้าที่เชิญธงชาติตอนเข้าแถวก่อนเข้าเรียน ส่วนในตอนเที่ยงข้าพเจ้ามีหน้าที่นักข่าวตัวน้อย บอกเล่าข่าวผ่านเสียงตามสายของโรงเรียน ซึ่งนั่นเองเป็นเหตุที่ข้าพเจ้าได้ติดตามข่าวสารต่าง ๆ ของประเทศ ข้าพเจ้าทราบดีว่ามีการชุมนุมของ นปช. มาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่ามีการใส่เสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุม และเป็นภาพจำว่านั่นคือการชุมนุมของคนเสื้อแดง
.
พื้นที่ที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่คือภาคอีสานและมักเป็นภาพจำของคนส่วนมากว่าภาคอีสานต้องเป็นเสื้อแดง หากจะมองแบบนี้ก็คงไม่ผิดนัก หมู่บ้านที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่มีการสนับสนุนการชุมนุมของคนเสื้อแดงพอสมควร หลาย ๆ บ้านเลือกที่จะติดจานดาวเทียมเพื่อติดตามการชุมนุมและเชียร์อย่างมีอรรถรสประหนึ่งว่าอยู่ในที่ชุมนุมด้วย หลาย ๆ บ้านมีการปักธง นปช. มีการพูดถึงการโฟนอินจากทักษิณ และมีการชักชวนกันไปชุมนุมตามศาลากลางจังหวัด ตอนนั้นบอกตามตรงว่าตื่นเต้นมาก ด้วยความที่เป็นเด็กและเห็นความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ข้าพเจ้าเองขณะนั้นก็ไม่ได้มีความเข้าใจมากว่าจุดประสงค์ของการชุมนุมคืออะไร รู้เพียงว่ามีการเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
.
ต่อมาทราบว่ามีผู้เข้าร่วมประท้วงมากมายและเริ่มเกิดเหตุจลาจล เช่น การเผาศาลากลางจังหวัด แต่ก็ไม่ได้รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีหลายความเห็นจากหลายทาง เช่น บอกว่ามีคนเสื้อแดงเผาศาลากลางจังหวัด และอีกกลุ่มบอกว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ จนมาถึงช่วงที่มีการสั่งสลายการชุมนุม สิ่งที่ได้ยินบ่อยที่สุด คือ การใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมยังคงสู้และปักหลักชุมนุมโดยหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากแก๊สน้ำตา ต่อมารัฐบาลอภิสิทธิ์ได้สั่งสลายกาชุมนุมและเกิดความรุนแรงขึ้น ตอนนั้นจำได้ว่าช่องโทรทัศน์ต่าง ๆ เริ่มมีการออกข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม และมีนักข่าวต่างชาติเสียชีวิตจากการทำข่าวด้วย ในความรับรู้ตอนนั้นยังไม่ได้มีความรู้สึกร่วมด้วยเท่าไหร่ อาจจะเพราะความเป็นเด็กหรืออะไรก็ตาม แต่ก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องปกติแน่ ๆ ที่รัฐบาลจะสั่งฆ่าประชาชน
.
หลังการชุมนุมยุติลงก็เป็นที่รับรู้ว่าเสื้อแดงแพ้พ่ายในการชุมนุมนั้น ข่าวในสื่อกระแสหลักไม่ได้นำเสนอเกี่ยวกับผู้ที่สั่งสลายการชุมนุมเท่าไหร่ ไม่ได้มีการพูดถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของรัฐบาลในขณะนั้น ผู้ที่มีอำนาจทำเหมือนสิ่งที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีคนตายจากอุดมการณ์ ผู้มีอำนาจไม่เคยมองว่าคนเท่ากัน เขาทำทุกอย่างเพื่อกดขี่ผู้เห็นต่างที่กำลังตั้งคำถามและท้าทายอำนาจเขา
.
ในปีนี้ (2563) ครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง มุมมองและความรู้สึกของข้าพเจ้าแตกต่างไปจากตอนที่เป็นเด็กประถมมาก คำที่ข้าพเจ้าได้ยินบ่อย ๆ เช่น เสื้อแดงชอบใช้ความรุนแรง ลงถนนคือความรุนแรง ล้วนเป็นคำที่ฟังดูไร้อุดมการณ์มาก ในประเทศที่กดขี่ประชาชน การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นถูกผลักไสให้กลายเป็นพวกไร้เหตุผล นิยมความรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากการกระทำของรัฐ คนสั่งฆ่าก็เป็นที่รู้กันดีว่าใครแต่ไม่สามารถนำมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้ ผู้กระทำผิดยังลอยหน้าลอยตาในสังคม ส่วนคนตายไม่มีแม้แต่ร่องรอย เพียงความยุติธรรมรัฐไทยยังไม่สามารถให้กับเขาได้ ข้าพเจ้ารับรู้ข้อมูลมากขึ้น ข้าพเจ้าเห็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในสังคม และข้าพเจ้าเห็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นต่อตัวของข้าพเจ้าเอง ประเทศนี้ไม่ใช่ที่แสวงหาอำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ประเทศนี้คือปประเทศของประชาชน ขอสดุดีเพื่อนร่วมชาติที่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทุกคนและขอให้ประเทศไทยมีความยุติธรรม
.
…..ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนขอสู้เพื่อให้ประเทศนี้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย และข้าพเจ้าจะขออยู่จนไม่ต้องมาสู้เพื่อประชาธิปไตย

เมษา-พฤษภา 53 และคนเสื้อแดง

 

“เนติวิทย์” เราต่างหากที่ถูกหลอกจนเฉยชาต่อความอยุติธรรม

(1)

พฤษภาคม 2553

ผมอายุ 14 ปี ตอนนั้นอยู่บ้านซึ่งเป็นบ้านฝั่งข้างแม่ จำได้ว่าคุณอามักเปิดโทรทัศน์ช่อง NBT ทุกวัน พิธีกรรายการนำเสนอคนเสื้อแดงที่ออกไปชุมนุม เรียกร้อง ในฐานะคนต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียกร้องโดยถูกจ้างมา คนเสื้อแดงเป็นคนไม่มีเหตุผล กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่แสนจะมีเหตุมีผล เป็นสุภาพบุรุษ และในบางครั้งก็มีสารคดีสั้น ๆ ระทึกใจในโทรทัศน์ให้ดูด้วย ท่านเองเปิดโปงว่า คนเสื้อแดงมีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรบ้าง ใครจ้าง กำลังสื่อถึงใครอยู่ และต่อต้านสถาบันกษัตริย์

ตอนนั้นผมเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 2

ครูที่โรงเรียนบางคนก็เอาความไม่พอใจต่อคนเสื้อแดงมาพูดในห้องเรียน เรียกพวกเขาว่า พวกเผาบ้านเผาเมือง คนหนักแผ่นดิน แม้จะมีครูบางคนที่ใจรักความเป็นธรรมให้กับคนเสื้อแดง แต่วาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง แพร่หลายมากกว่าจะแก้ต่างได้ ทั้งในที่บ้านและในโรงเรียน

ผมเองยังไม่ประสีประสากับการเมืองสักเท่าไหร่ในเวลานั้น พึ่งสนใจก็ว่าได้ และด้วยความรักษาตัวรอดเป็นยอดดียังไม่แกร่งกล้าพอ เมื่ออ่านหนังสือนอกตำรา ซึ่งบางครั้งทำให้ได้ความเห็นไม่เหมือนกับในห้องเรียนที่ครูสอน ก็มักจะเอาไปโต้แย้งกับครู ผมยังทำหนังสือขึ้นมาเล่น ๆ ในห้องเรียนด้วย มาภายหลังผ่านไปหลายเดือนแล้ว ผมจึงรับรู้ว่าผมเองก็ถูกมองว่าเป็น “คนเสื้อแดง” ด้วยเช่นกัน ทั้งที่ผมยังไม่รู้เลยว่า “คนเสื้อแดง” มีความหมายลบขนาดไหนในตอนนั้น

นี่ไม่ได้มาจากแค่ที่ครูประจำชั้นในตอนนั้นให้เพื่อนผมคนหนึ่งมาตีสนิทกับผมและรายงานให้ครูทราบว่าผมมีทัศนคติทางการเมืองอย่างไร แต่ระดับผู้อำนวยการก็ยังส่งคนไปสืบว่าบ้านผมอยู่ไหน และครอบครัวมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร

ความกลัวคนเสื้อแดง ของคนกลุ่มในสังคมและชนชั้นนำนั้นมากเหลือคณา

การถูกแปะป้ายเป็น “คนเสื้อแดง” แทนคนคิดเห็นแตกต่างจากคนอื่น ทำงานได้ผลได้ดี ชีวิตในโรงเรียนผมไม่เคยสงบอีกเลย ผมกลายเป็นคนที่ครูและนักเรียนล้วนระวังตัว เหมือนกลัวจะถูกแพร่เชื้อ และแม้อาจจะไม่เคยคุยกันเลย แต่แค่ได้ยินชื่อผมก็อคติกับผมไปแล้ว

(2)

ผมเริ่มรู้จักคนเสื้อแดงจริง ๆ และได้ไปร่วมงานชุมนุมด้วยก็คือ หลังจากได้ไปฟังปาฐกถาที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ และงานเสวนาวิชาการต่าง ๆ แรกสุดก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่า ทำไมกลุ่มคนเหล่านี้ที่ถูกนำเสนอว่าไม่มีการศึกษา ถูกหลอก ถึงมากันเต็มงานเสวนาเลยนะ แทนที่จะมีนักศึกษาจำนวนมาก กลับเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง ป้า ๆ ลุง ๆ ที่มาฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ และตอนช่วงถามตอบ คำถามที่พวกเขาถามมักสะท้อนความไม่เป็นธรรมทางสังคม หรือเป็นในลักษณะเชิงผิดหวังและอยากหาทางออกจากสังคมที่อยุติธรรม ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ผมเองและหลาย ๆ คนก็รู้สึกเหมือนกันมิใช่หรือ

หรือว่าผมถูกหลอกให้สนใจสังคมที่เป็นธรรมงั้นหรือ?

ดังนั้นคำว่าคนเสื้อแดงถูกหลอก น่าจะเป็นพวกเรามากกว่าที่ถูกหลอก จนในที่สุดพวกเราก็เมินเฉยและชาชินกับสังคมอยุติธรรมให้คงอยู่ต่อไป

หลังจากที่ได้ไปงานเสวนาอย่างบ่อยครั้ง ก็ได้เริ่มรู้จักพี่ ๆ หลายคนที่เป็นเสื้อแดง เริ่มเรียนรู้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงนั้นคิดยังไง เขาเคลื่อนไหวอะไรกันบ้าง ผมได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่า ขบวนการคนเสื้อแดงมีความหลากหลาย บางคนสนับสนุน ทุนนิยม บางคนสนับสนุนสังคมนิยม เห็นแย้งเห็นต่างในแนวทางอยู่ แต่ก็ยังเรียกรวมกันว่าเป็นคนเสื้อแดง นี่เป็นอะไรที่ไปไกลกว่าความใจทั่ว ๆ ที่มองว่าขบวนการนี้เป็นขบวนการของแค่คนบางคนเท่านั้น เมื่อมองกลับไปยังในโรงเรียนหรือที่บ้านซึ่งอคติให้เราเกลียดกลัวการชุมนุมประท้วงและคนเสื้อแดง เราเริ่มเห็นว่าใครกันแน่ที่ไร้เหตุผลและโลกแคบ

จริง ๆ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เป็นที่รับรู้ในแวดวงวิชาการและในสังคมที่ชอบกระซิบกระซาบอยู่แล้วว่าไม่เป็นผลดีกับใครเลย และยังมักถูกนำมาเสริมบารมีและหยามหมิ่นคนที่คิดแตกต่างด้วย แต่สังคมไทยมีคนปากว่าตาขยิบอยู่จำนวนมาก หลาย ๆ คนไม่ได้ผลกระทบอะไรโดยส่วนตัว และอาจจะได้ประโยชน์จากการอ้างสถาบันด้วยก็เลยไม่ได้ทำอะไร ลอยตัว กลุ่มคนเสื้อแดงนอกจากจะกล้าพูดออกมา พวกเขาไม่น้อยก็ถูกจับดำเนินคดีเพราะข้อกล่าวหานี้ ขณะที่สังคมไทยก็ยังปากว่าตาขยิบ รู้ปัญหาแต่ก็แสร้งไม่พูดต่อไป

ผมเองได้เคยไปร่วมรณรงค์ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับพวกเขาในการชุมนุมหลายครั้งด้วย ทุกวันนี้เวลาน่าจะพิสูจน์แล้วว่า คนเสื้อแดงต่อสู้ถูกต้อง มาตรา 112 สมควรได้รับการยกเลิก

(3)

กลับมากล่าวถึงเหตุการณ์เมษา – พฤษภาคม 2553
ซึ่งมีการสังหารประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากกลางกรุงเทพมหานคร

ตอนนั้นผมพึ่งจะรับรู้การเมืองแล้ว แต่ผมก็สมควรจะต้องรู้สึกผิดไปอีกยาวนาน จากที่แม้คนเสื้อแดงจะเป็นคนร่วมชาติเดียวกัน แต่ความตระหนักต่อความตายของพวกเขาด้วยกระสุนของทหารกลับมีน้อยนิด ผมไม่ได้ตกใจและออกมาปกป้องในสิ่งที่ควรตกใจและปกป้อง ผมยังดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างปกติ โดยหารู้ไม่ว่า อีกไม่กี่เดือนถัดมาผมก็กลายเป็น “คนเสื้อแดง” ของโรงเรียนไปแล้ว

จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านไปหลายปีแล้ว

การมองย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์ทำให้เราเห็นอะไรที่กระจ่างชัดมากขึ้น สิ่งที่คนในเหตุการณ์ตอนนั้นเรียกร้องยังคงเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากมายเรียกร้องอยู่ในเวลานี้

เหตุการณ์เมษา – พฤษภาคม 2553
ไม่ได้เป็นความเจ็บปวดเฉพาะกลุ่มอีกแล้ว
ตอนนี้มันได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ระดับชาติ
เป็นภาพแทนการถูกกดขี่ของคนทั่วประเทศ ที่รอวันสะสาง
และในไม่ช้า วันนั้นย่อมมาถึง

“พริษฐ์” คนเสื้อแดงคือวีรบุรุษและแรงบันดาลใจของการต่อสู้

คนเสื้อแดงคือวีรบุรุษของผม และการต่อสู้ของคนเสื้อแดงคือแรงบันดาลใจของผม
.
จะไม่ให้ผมพูดเช่นนี้ก็คงจะไม่ได้ ในเมื่อเรื่องราวทางการเมืองเรื่องแรก ๆ ที่ผมได้รู้จักในชีวิตล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของคนเสื้อแดง รายการวิเคราะห์การเมืองรายการแรกที่ผมเคยฟังคือวิทยุเสื้อแดงแถวบ้าน ช่องข่าวการเมืองช่องแรกที่ผมเคยดูคือความจริงวันนี้ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผมได้ยินชื่อเป็นคนแรกก็คือพี่ดา ตอร์ปิโดผู้ล่วงลับ ซึ่งคงกล่าวได้ไม่ผิดว่าเป็นคนเสื้อแดง และม็อบแรกที่ผมเคยร่วมเดินขบวนก็คือม็อบเสื้อแดงหน้าราบ 11 ฯ สีแดงจึงเป็นสีแรกที่ผมรู้จักสำหรับคำว่าการเมืองและประชาธิปไตย
.
ผมรู้จักคนเสื้อแดงมาตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถม ผมแน่ใจดีว่าตัวเองไม่ใช่เสื้อเหลือง เสื้อหลากสี หรือใด ๆ ก็ตามเหล่านั้นแน่ ยิ่งได้ยินวาทะเรื่องเสียงคุณภาพที่ใช้ในม็อบ กปปส. ยิ่งแน่ใจว่าไม่ใช่ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเป็น “คนเสื้อแดง” หรือไม่ เพราะถึงแม้ผมจะเห็นด้วยและสนับสนุนการต่อสู้ของคนเสื้อแดง แต่ลึก ๆ แล้ว ในตอนนั้นผมก็ยังไม่เข้าใจว่าหลักการและอุดมคติเหล่านั้นมันสูงค่ามากพอที่คนเสื้อแดงออกมาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายต่อสู้กระนั้นหรือ
.
ผมเองและเพื่อน ๆ หลายคนก็เคยตั้งคำถามเดียวกันในระหว่างการเคลื่อนไหวของพวกเรา เพื่อไม่ให้ท้อใจไปกลางทาง เราจึงพยายามหาคำตอบโดยการพูดคุยกับนักสู้ที่เคยต่อสู้มาก่อนเวลาของพวกผม ไม่ว่าจะเป็นนักสู้รุ่นเดือนตุลาก็ดี นักสู้รุ่นพฤษภาทมิฬก็ดี และที่สำคัญ นักสู้คนเสื้อแดง ผมและเพื่อน ๆ ได้ข้อสรุปประการหนึ่งที่สำคัญมาก นั่นคือ:
.
“เราไม่ได้สู้แค่เพื่อยืนยันหลักการและอุดมคติสวยหรู แต่เพื่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจริง”
.
คนเสื้อแดงไม่ได้ออกมาสู้เพื่อให้ตัวเองดูเป็นคนดีมีอุดมการณ์ คนเสื้อแดงไม่ได้ออกมาสู้เพื่อให้ตัวเองดูเป็นคนกล้าคนเท่ คนเสื้อแดงออกมาสู้เพราะเขาเห็นความทุกข์ยากของผู้คน (ซึ่งรวมถึงตัวเองด้วย) และต้องการเปลี่ยนโลกจริง ๆ และการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำกันวันสองวัน หรือทำกิจกรรมกันครั้งสองครั้งแล้วจะเสร็จสิ้น แต่ต้องอาศัยการต่อสู้ที่ต่อเนื่อง จริงจัง และยึดถือขบวนการมวลชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวถึง ได้มีตัวอย่างให้ผมได้เรียนรู้จากการต่อสู้ของคนรุ่นก่อน ๆ โดยเฉพาะการต่อสู้ของคนเสื้อแดง
.
ทุกครั้งที่ผมหรือใครเหนื่อยล้าในการเคลื่อนไหว เราจะนึกถึงความยินหยัดของพี่น้องเสื้อแดงที่สู้มาตั้งแต่ปี 2549
ทุกครั้งที่ผมหรือใครหวาดกลัว เราจะนึกถึงความกล้าหาญของพี่น้องเสื้อแดงในปี 2553
.
และเรามักจะบอกกันในกลุ่มเสมอว่าการต่อสู้ของประชาชนที่น่าเกรงขามที่สุดในรอบสิบปีคือการต่อสู้ของคนเสื้อแดง การกระทำของคนเสื้อแดงนั้น แม้ใครหลายคนจะเหยียดหยามว่าเป็นการต่อสู้ของไพร่ แต่ในสายตาของพวกผม ถือเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมว่า การเคลื่อนไหวที่มีพลังนั้นเป็นอย่างไร
.
ผมมักจะขอบคุณนักเคลื่อนไหวรุ่นก่อน ๆ ที่ปูทางการเคลื่อนไหวให้พวกเราในวันนี้ และผมขอคารวะการต่อสู้ของพี่น้องคนเสื้อแดงทุกท่านที่ต่อสู้กันมาตั้งแต่คืนวันที่มืดหม่นในยุคที่ต่างความคิดก็อาจผิดถึงตาย หากไม่มีการต่อสู้ของพวกท่าน การเคลื่อนไหวของเราย่อมไม่อาจจะทำได้เหมือนในวันนี้
.
ขอขอบคุณที่ส่งไม้ต่อให้พวกเรา ขอบคุณครับ