‘อนุทิน’ ยัน ส่งการบินไทย ปรับโครงสร้างหนี้ด้วยพ.ร.บ.ล้มละลาย ไม่ใช่ปล่อยล้มละลาย

‘อนุทิน’ เผย ส่งการบินไทย ปรับโครงสร้างหนี้ด้วยพ.ร.บ.ล้มละลาย แต่ไม่ใช่ปล่อยล้มละลาย

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีมติให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พื้นฟูตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้มละลาย พ.ศ.2483 โดยยื่นศาลล้มละลายกลาง ซึ่งจะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ว่า ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ คนร. จึงไม่ได้ร่วมประชุมด้วย แต่หลังจากนี้ กระทรวงคมนาคมคงจะส่งเรื่องนี้ให้ตนลงนามเพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม. ในวันพรุ่งนี้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทุกคนในรัฐบาลชัดเจนว่า บมจ.การบินไทย ต้องเข้าสู่การพื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ซึ่งตนขอย้ำว่านี่ไม่ใช่การล้มละลาย แต่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้โดยอาศัยพ.ร.บ.ล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการอยู่ในพ.ร.บ.ฉบับนี้

เมื่อถามว่า ในแผนดังกล่าว กระทรวงการคลังยังจะต้องค้ำประกันเงินกู้ให้บมจ.การบินไทย หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า โดยหลักแล้วไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะการบินไทยเป็นบริษัทมหาชน แต่ถ้ากระทรวงการคลังต้องค้ำประกันเงินกู้ให้ ก็ไม่ต้องฟื้นฟู เมื่อถามต่อว่า หลังผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพ.ร.บ.ล้มละลาย การบินไทยจะต้องพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตามขั้นตอนก็คงเป็นอย่างนั้น เพราะจะได้มีความคล่องตัวมากขึ้น แต่ก็ไม่น่าจะเกี่ยว เพราะการฟื้นฟูกิจการตามแนวทางในพ.ร.บ.ล้มละลาย เจ้าหนี้ของการบินไทยกับผู้จัดทำแผนต้องมาตกลงร่วมกัน เมื่อการบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ คนร.จะหมดอำนาจ โดยอำนาจการบริหารจะอยู่กับผู้ทำแผนฯซึ่งศาลล้มละลายตั้งขึ้นตามคำแนะนำของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ขอให้รอดูเมื่อถึงวันก่อนดีกว่า

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า การฟื้นฟูกิจการในแนวทางดังกล่าวกับกิจการที่มีหนี้สินจำนวนมากนั้น เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้กิจการนั้นไม่ต้องนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาด และไม่ต้องชำระหนี้ เนื่องจาก หลังการยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ จะเกิดสภาวะที่เรียกว่า “ออโตเมติก สเตย์ (Automatic Stay – การพักการชำระหนี้โดยผลของกฎหมาย)” ทุกอย่างหมด เจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกให้มีการแบ่งชำระหนี้

ต่อข้อถามว่า จะส่งผลกับพนักงานการบินไทยมากน้อยแค่ไหน นายอนุทิน กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ กำไร-ขาดทุน และเส้นทางการบิน ซึ่งตนคิดว่าระหว่างการทำแผนฟื้นฟู ผู้จัดทำแผนต้องหารือและตกลงร่วมกับพนักงานฝ่ายปฏิบัติการทั้งหลาย เพราะผู้จัดทำแผนมีอำนาจเสมือนเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี)

เมื่อถามว่า มีข่าวว่าการบินไทยจะเปิดบินระหว่างประเทศในเดือน กรกฎาคมนี้ ถ้าอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ ยังสามารถทำการบินได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ตามหลักกฎหมายดังกล่าว ลูกหนี้ที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการ สามารถประกอบธุรกรรมที่เป็นปกติวิสัยได้อยู่แล้ว ขณะที่การล้มละลายคือการทำให้ลูกหนี้ต้องหยุดทุกทางแล้วนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาด แต่กรณีการบินไทย เราไม่ได้เลือกทางนั้น ไม่ได้พูดถึงการให้ล้มละลาย