ยื้อไปทำไม! “ภูมิธรรม” จี้รัฐบาลเลิกใช้ พรก.ฉุกเฉินทันที ก่อนเศรษฐกิจประเทศพังทลาย

วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทยและที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อขั้นตอนผ่อนคลายมาตรการ หลังประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินและคำสั่งเคอร์ฟิวตั้งแต่ปลายมีนาคมที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ ประชาชนขาดรายได้ในการดำรงชีพและมีเสียงเรียกร้องให้เร่งฟื้นฟูกลับสู่ภาวะปกติท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลที่จะขยายเวลาการใช้ พรก.ฉุกเฉินออกไปอีกว่า

รัฐบาลต้องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที…ก่อนที่เศรษฐกิจประเทศจะล้มละลาย เกินเยียวยา…ยื้อไว้ทำไมเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประชาชน ?

วันนี้ตัวเลขการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ค่อนข้างดีมาก

แต่ โรคภัยทางเศรษฐกิจที่ผู้คนในประเทศนี้กำลังเผชิญ นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ภาพเชิงประจักษ์ที่ดีที่สุดซึ่งอธิบายได้ดีกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจไหนๆ คือ ภาพที่ผู้คนจำนวนมากมายต่อแถวเพื่อยื่นเรื่องขอทบทวนสิทธิ์ในการรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ 5,000 บาท และภาพของการเข้าคิวเพื่อรอรับบริจาคอาหาร รวมถึง ข่าวตัวเลขของการฆ่าตัวตายอันเนื่องจากพิษเศรษฐกิจที่พุ่งสูงขึ้น

นี่คือภาพสะท้อนความจริงทางเศรษฐกิจที่เป็นยอดของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งทุกฝ่ายตระหนักดีว่า ปัญหานั้น มีความรุนแรง เพียงใด

วิธีการแก้ปัญหาส่วนหนึ่งของรัฐบาลคือการ ออก พรก. เงินกู้ จำนวนมหาศาล เพื่อมาแก้ไขเยียวยาปัญหา …ซึ่งยังต้องตั้งข้อสังเกตถึงแผนการใช้จ่ายเงินที่มีประสิทธิภาพและสร้างผลลัพธ์ที่คืนคุณค่ากลับมาได้จริง

แต่… ผมมีความเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลควรต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ การยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน เพื่อเร่งคลายล็อคให้การดำเนินเศรษฐกิจในประเทศ ได้ลื่นไหลไปตามระบบกลไกปกติ

วันนี้ สังคมไทยกำลังจ่ายต้นทุนที่แพงมาก หากจะยังคงยืนยันใช้ พรก.ฉุกเฉิน ต่อเนื่องไปอีก ด้วยข้ออ้างในการควบคุมการระบาดของโควิด ทั้งๆที่มีกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้อง อย่างเช่น “พ.ร.บ. ควบคุมโรคระบาด” ก็สามารถนำมาใช้ ให้มีผลในการควบคุม ป้องกันโรคได้ ไม่แตกต่างกัน เพราะหากยังคงพ.ร.ก. ฉุกเฉินไว้ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงมากแล้ว นอกจากไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโอกาสทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลต้องตอบคำถามถึงนัยยะที่ซ่อนอยู่ของการควบคุมอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และการเคลื่อนไหวทางสังคม

หากรัฐบาลอาศัยเงื่อนไขพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของคณะตน โดยพยายามดิ้นรนรวบอำนาจการบริหารมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว อำนาจนี้จะกลับกลายมาเป็นเครื่องมือ ที่กัดเซาะและบ่อนทำลาย ภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ และที่สำคัญจะกลายเป็น ปัจจัยที่เสริมสร้างความยากลำบากและปิดกั้นโอกาสในการทำมาหากินของพี่น้องประชาชนมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีอย่าคิดสั้นๆ
อย่าเห็นแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า
มุ่งรักษาแต่อำนาจของตน

รีบปลดล็อคยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
ก่อนที่เศรษฐกิจของประเทศ จะหายนะ จนเกินเยียวยา