ทูตเกาหลีใต้ขอไทย ปลดจากประเทศกลุ่มเสี่ยง-อนุญาตให้เอกชนเดินทางเข้าได้

เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ ขอไทยผ่อนปรนให้นักธุรกิจ ภาคเอกชน เดินทางเข้าไทยได้ พร้อมขอปลดรายชื่อออกจากประเทศเขตโรคติดต่ออันตราย เพราะสองประเทศควบคุมโควิด-19 ได้ ย้ำต้องมีการเดินทางติดต่อเพื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ด้านนายกฯเรียกสภาพัฒน์เข้าหารือ ก่อนเคาะมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ในวันพรุ่งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ว่า นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล โดย ช่วงเช้า คณะทำงานเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้ารายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อประกอบการพิจารณาผ่อนปรนมาตรการที่จะคลายล็อกในระยะที่ 2ก่อนการประชุม ศบค.ในวันพรุ่งนี้

ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือ กับนายนายอี อุก-ฮ็อน (Mr. Lee Wook-heon) เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย พร้อมเปิดเผยว่า ทางเกาหลีใต้ได้หารือถึงแนวทางการผ่อนปรนให้นักธุรกิจ และภาคเอกชนของเกาหลีใต้ เดินทางมาเจรจาธุรกิจในไทยได้ซึ่งจะต้องมีการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ ถึงความเป็นได้ ในการเดินทางเข้ามา ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสาธารณสุข และ ศบค.จะเป็นผู้พิจารณา

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า เกาหลีได้ขอให้ไทยผ่อนปรนการเดินทางให้กับนักธุรกิจและภาคเอกชน เข้าประเทศ เหมือนกับที่เกาหลีใต้ ผ่อนปรนให้ จีน ฮังการี และ เวียดนาม โดยมีการตรวจร่างกาย กักตัวตรวจดูอาการถึง 2 ครั้ง ก่อนที่จะให้เดินทางในประเทศ ซึ่งการกักอาจไม่ถึง 14 วัน อีกทั้งสถานการณ์โควิด ในไทย และเกาหลีใต้ เริ่มที่ผ่อนคลายบ้าง เพราะแต่ละประเทศประสบปัญหาโควิด-19 แต่ปัญหาใหญ่คือเรื่องเศรษฐกิจ ที่จะต้องขับเคลื่อนเพื่อให้มีการเดินทาง ค้าขาย และ ลงทุน นอกจากนี้ยังขอให้ไทยปลดรายชื่อประเทศเกาหลีใต้ออกจากประเทศเขตโรคติดต่ออันตราย พร้อมกันนี้ ยังประเทศอื่นที่สนใจและติดต่อขอให้ไทยผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศ เช่น ฮ่องกง ที่มีความเป็นไปได้เพราะควบคุมสถานการณ์โควิดได้บ่างแล้ว เช่นเดียวกับประเทศ ที่บริหารจัดการโควิด 19 ได้ดี จนมีหลายประเทศติดต่อเข้ามา ส่วนธุรกิจภาคท่องเที่ยวยังไม่สามารถที่จะเปิดได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลา และหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ

ส่วนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทย นายกอบศักดิ์ กล่าวยอมรับว่าหนัก ทั้งเรื่องส่งออก และการท่องเที่ยว จึงขอให้ทำใจ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้อนุมัติงบ จ้างงานลงในพื้นที่ 4 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือประชาชน ที่ตกงาน และเดินทางกลับภูมิลำเนาตนเอง