สธ.เผย 2 ปัจจัยเสี่ยงเจอ “โควิด-19” ระลอกสอง แย้มแผน 3 ระยะ ก่อน “เปิดเมือง”

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การภายหลังมาตรการผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรม ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (โควิด-19) (ศบค.) มีคำสั่งให้เปิด 6 กิจการ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคมเป็นต้นมา ว่า ในมาตรการผ่อนปรน ร้านอาหารที่จัดตั้งแผงฉากกั้นระหว่างบุคคลนั้น คำแนะนำคือ การตั้งแผงฉากกั้น นอกจากการกั้นระหว่างการนั่งตรงกันข้ามแล้ว ควรจะกั้นระหว่างโต๊ะอาหาร ซ้ายและขวาซึ่งจะมีประโยชน์ที่สูงมากขึ้น โดยมีความสูงมากกว่าศีรษะเมื่อเวลาที่นั่งหรือยืน มีระยะห่างจากผู้นั่ง ด้านหน้าอย่างน้อย 1.5 เมตร ด้านหลัง 1.5 เมตร

สำหรับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดการระบาดระลอกที่สอง นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงมี 2 สิ่ง คือ 1.จำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชน ซึ่งขณะนี้มีจำนวนที่ค่อนข้างต่ำ 2.ผู้คนออกไปสัมผัสกันมากน้อยเพียงใดในแต่ละวัน หากพบเจอคนมาก ความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคก็จะสูง สถานที่แต่ละแห่งมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน เช่น พื้นที่เคยมีรายงานพบผู้ป่วย ความเสี่ยงจะสูงกว่าพื้นที่ที่ไม่เคยพบผู้ป่วยเลย ดังนั้นมาตรการทำงานที่บ้าน ยังเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเป็นการลดความแออัดในพื้นที่สาธารณะ รถไฟฟ้า รถประจำทาง รถตู้ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือช่วยกันลดความเสี่ยง การสวมใส่หน้ากากผ้ายังเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ขณะนี้เริ่มเห็นบางคนการ์ดตก ออกจากบ้านโดยไม่สวมหน้ากากป้องกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการกักกันผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ในสถานที่ที่รัฐบาลจัดไว้ (State quarantine) (Local quarantine) รวมถึงโอกาสที่ประชาชนคนไทยจะเดินทางไปต่างประเทศ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตราบใดที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคนี้ในต่างประเทศ โอกาสที่ชาวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ถูกกันกันก็จะต่ำ เนื่องจากประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยสะสมค่อนข้างมาก และไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงในการกลับไปในสถานะเดิมอีก และหากคนไทยจะเดินทางไปต่างประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของประเทศนั้นๆ ว่า มีความเชื่อมั่นในประเทศไทยมีผู้ป่วยน้อยจริงหรือไม่ จะต้องรวมถึงการทำงานที่จะต้องพิสูจน์ตัวเลขที่ประเทศไทยรายงานในแต่ละวันว่าใกล้เคียงหรือตรงกับความจริงมากน้อยเพียงใด

“จะต้องพิจารณาจากจำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคว่ามีการลดลงหรือไม่ หรือจำนวนการตรวจค้นหาผู้ป่วยในแต่ละวันลดลงหรือไม่ แม้ว่าจะพบผู้ป่วยน้อยลง แต่เราไม่ได้มีความคิดว่าจะลดจำนวนการตรวจลง ตรงกันข้ามคือเราพยายามตรวจต่อไปให้ได้มากขึ้น มีการระบุกลุ่มประชากรที่จะต้องตรวจรายวันให้ชัดเจน และผู้ป่วยที่เดินเข้ามาในโรงพยาบาล (รพ.) จะต้องมีการตรวจเพิ่ม เช่น ก่อนทำหัตถการ หญิงตั้งครรภ์ที่มาคลอด ผู้สูงอายุที่มีอาการไข้หวัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้ค้นพบผู้ป่วยให้ได้เร็วที่สุด พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างประเทศด้วย หากต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในประเทศเรา เขาก็คงจะให้เราเข้าประเทศไทยโดยที่ไม่ต้องกักกัน ส่วนนี้จะต้องขึ้นอยู่ในแต่ละประเทศจะพิจารณา” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เมื่อถามถึงการใช้มาตรการผ่อนปรนกิจการในระยะที่ 1 ว่า หากภายในสัปดาห์ต่อไปพบว่ามีผู้ป่วยรายเพิ่มรายวันเพิ่มสูงขึ้นในหลัก 30-40 ราย จะมีการเลื่อนเปิดในระยะที่ 2 หรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าว เป็นความคิดเห็นเชิงวิชาการส่วนตัว หากมีการระบาดเช่นนั้นเกิดขึ้นจะต้องพิจารณาเป็นพื้นที่ว่าเกิดขึ้นที่ใด และลงพื้นที่ไปตรวจสอบ ส่วนพื้นที่อื่นก็สามารถป้องกันและใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติต่อไป เนื่องจากการระบาดที่ผ่านมามีการเกิดขึ้นในไม่กี่จังหวัด แต่มาตรการที่เข้มข้นคือ การปิดทั่วประเทศ ดังนั้น หากเข้าใจสถานการณ์ระบาด และใช้มาตรการที่สมเหตุสมผล เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ

แย้มแผน 3 ระยะ ก่อน “เปิดเมือง” ขอ “เวิร์กฟอร์มโฮม” ต่อแม้จบโควิด-19

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ยังมีโอกาสที่จะกลับไปอยู่ในการระบาดระยะต่อเนื่องที่เป็นระยะวิกฤตได้ หากประชาชนเริ่มไม่ระวังตนเองในการใช้ชีวิต หรือ การ์ดตก เกิดความประมาท การที่พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวนน้อย ไม่ได้หมายความว่ามีผู้ป่วยในประเทศเพียงเท่านี้ โดยระยะการจัดการปัญหาโควิด-19 แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 โรคมีการแพร่ระบาด ที่มีการระบาดทั้งหมด 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 ไม่มีผู้ป่วย หรือผู้ป่วยในวงจำกัด ระดับที่ 2 คือ การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ระดับที่ 3 คือการแพร่ระบาดระดับวิกฤต ต่อมาคือ ระยะที่ 2 สร้างภูมิคุ้มกัน และ ระยะที่ 3 ฟื้นฟู

“การที่เราพบผู้ป่วยวันนี้ 5 ราย และพบเป็นการระบาดในประเทศ 2 ราย ไม่ได้แปลว่าในประเทศวันนี้มีผู้ป่วยแค่ 2 ราย สิ่งที่สำคัญคือ โรคนี้อาการค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่คิดว่าตนเองไม่ได้ติดเชื้อ ในส่วนนี้ทาง สธ.จึงมีมาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน (Active case finding) จะคลายใจได้ต่อเมื่อการระบาดในทั่วโลกเริ่มดีขึ้น หรือ การมีวัคซีนสำหรับคนกลุ่มสำคัญ กลุ่มยุทธศาสตร์ ในประเทศไทย เราจึงจะเข้าระยะที่ 3 คือระยะฟื้นฟูได้ โดย สธ.ได้จัดทำแผนของทั้ง 3 ระยะ เรียบร้อยแล้ว” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับระยะที่ 3 คือ ฟื้นฟู เป็นการดำเนินการค้นหาปัญหา ถอดบทเรียนจากวิกฤตครั้งนี้เพื่อนำไปป้องกันแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ในอนาคต เช่น ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันตัว จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องที่เหมาะสม บางเรื่องสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้จบวิกฤต การเข้าถึงวัคซีนที่สามารถผลิตได้เองโดยไม่ต้องรอซื้อจากต่างประเทศ รวมถึงเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สามารถผลิตได้เอง ก็จะต้องมีการหาทางผลิตให้ได้ในประเทศ เช่น หน้ากาก N95 ให้เพียงพอ ชุดป้องกัน PPE หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ การคิดระบบบริการใหม่ให้มีระบบสำรองที่สำคัญ เช่น หากต้องการเตียงผู้ป่วย 100 เตียง จะต้องทำการสร้าง 1 ตึกใหม่อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี และในเวลานั้นวิกฤตอาจจะจบลงไปแล้ว ก็อาจจะใช้ไม่ทันสถานการณ์ จึงจะต้องมีการคิดระบบบริการที่เหมาะสม

“เรื่องเหล่านี้พูดง่าย แต่ทำได้ยาก เพราะในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉินมีความแตกต่างกันมาก เช่น สถานการณ์ปกติมีความต้องการหน้ากากอนามัย วันละ 1-2 ล้านชิ้น แต่ในภาวะฉุกเฉินอาจจะต้องใช้มากกว่านั้น เราจะต้องวิธีที่จะต้องผลิตได้เอง รวมถึงยา วัคซีน เราจะทำอย่างไรให้เข้าถึงได้เร็ว ผลิตได้เอง แข่งกับเขาได้บ้าง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การเปิดเมือง คือ การเปิดให้ภาคธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ แต่ต้องมีความระมัดระวังในการใช้ชีวิต ไม่ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง และต้องปฏิบัติตนเองให้เหมาะสม ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล สำหรับสถานประกอบที่ให้เจ้าหน้าที่ทำงานจากบ้านได้ ควรดำเนินตามมาตรการนี้ต่อไป การเหลื่อมเวลาทำงาน

ประเด็นที่ 2 การออกแบบทางวิศวกรรม ในการจัดสถานที่บริการให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเสริม การใช้แผงกันป้องกันฝอยละอองสารคัดหลั่ง

ประเด็นที่ 3 การปรับปรุงระบบงาน การประชุมทางไกลผ่านวิดีโอ การเพิ่มธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ต การเรียนรู้ทางไกล

ประเด็นที่ 4 การป้องกันส่วนบุคคล การสวมใส่หน้ากากอนามัยผ้า ล้างมือบ่อยๆ การใช้ช้อนกลางส่วนตัว

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะอยู่ต่อไปให้นานที่สุด ด้วยการปฏิรูป คิดปรับเปลี่ยนกระบวนการภายใน ที่เรียกว่า ชีวิตวิถีใหม่ (New normal) อย่างแท้จริง ที่เกิดขึ้นในภาวะฉุกเฉินแล้วอาจจะจบลงไป บางคนอาจจะบอกว่าอย่าเรียกเลยว่า New normal มันเป็นเรื่องของการตอบโต้ชั่วคราวมากกว่า แต่สิ่งที่พยายามหยิบมาพบว่ามันมีประโยชน์มากกว่า การจัดการแค่โควิด-19 เรื่องหลายเรื่องไม่ใช่เรื่องใหม่ เหล่านี้คือ New normal แต่ตัวเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เราเปลี่ยนผ่านช่วงนี้ไปให้ได้เร็วขึ้น” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะอยู่เพียงชั่วคราว สธ.อยากให้ทุกฝ่ายลุกขึ้นมาจริงจังกับเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่ได้ช่วยแค่โรคโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่สามารถช่วยได้อีกหลายเรื่อง เช่น ปัญหาการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปัญหาจราจร ปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น จึงอยากให้มีการผลักดันเรื่องเหล่านี้ต่อไป ส่วนคำถามที่มักจะถามบ่อยคือ ปัญหาโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด

“แต่คำถามนี้จะต้องถามกลับไปที่ประชาชนทุกคนเอง เพราะคนไทยทุกคนมีพลังอำนาจในการยุติและลดผลกระทบต่างๆ ได้ ในการเปิดกิจการให้บริการ ผู้ประกอบกิจการจะต้องดูแลให้เป็นไปตามาตรการอย่างเคร่งครัด ผู้เข้าใช้บริการมีการป้องกันตนเองระหว่างใช้บริการ หากอยากกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขในระดับหนึ่ง ทุกฝ่ายจะต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ในการป้องกันตนเอง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว