หมอแจง ค้นหาเชิงรุกในกทม. กลุ่ม “ผู้ไม่มีอาการป่วย” กว่า 3,100 ราย เจอติดโควิด-19 รายเดียว

วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สถวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงเกณฑ์การใช้วิธีการค้นหาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19″ แบบเชิงรุกในชุมชน(Active Case finding)

นพ.สุวรรณชัย กล่าว การทำ Active Case finding เป็นการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน หากถามว่าค้นหาไปทำไม คำตอบคือ เพราะว่าเรารู้ว่าน่าจะมีผู้ป่วยที่มีอาการน้อยๆ หากเคยฟังทฤษฎี ABC จะอธิบายได้ว่า คน A เป็นผู้ป่วยยืนยัน แล้วเราไปค้นหาผู้สัมผัสก็คือคน C สิ่งที่เราสงสัยมาโดยตลอดก็คือว่าคน B หายไปไหน การทำค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนคือการพยายามค้นหาผู้ป่วยกลุ่ม B ให้มากที่สุด ในพื้นที่ยังคงมีรายงานโรคอย่างต่อเนื่อง ได้ดำเนินการไปแล้วในบางแห่ง เช่น จ.ภูเก็ต เป็นตัวอย่างที่ดี ในส่วนของกรุงเทพมหานคร(กทม.)และปริมณฑล พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ของ จ.ชลบุรี โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ พื้นที่ในส่วนของ จ.กระบี่ ในบางส่วนที่มีชาวต่างชาติที่ยังตกค้างอยู่ พื้นที่ จ.ชุมพร ที่มีการระบาดที่สืบเนื่องมาจากในส่วนของผู้ป่วยที่ติดเชื้ออยู่ในโรงพยาบาล(รพ.) และระบาดมาสู่บุคลากรตลอดจนในส่วนของผู้ป่วยอื่นๆ รวมถึงผู้เข้ามาเยี่ยมผู้ป่วยใน รพ.

“โดยรวมสถานการณ์ในปัจจุบัน กทม.เมื่อดำเนินการควบคู่ไปกับสิ่งที่เราเรียกว่า ค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเลยในชุมชน เราดำเนินการไปมากกว่า 3,100 ตัวอย่าง เจอผู้ติดเชื้อเพียงรายเดียว แต่การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนจริงๆ ที่ทำในพื้นที่ จ.ยะลา จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ และบางส่วนของ กทม.ที่เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดมาก่อนหน้านี้ จำนวนทั้งหมดประมาณกว่า 7,900 ตัวอย่าง พบผู้ติดเชื้อเพียงประมาณ 44 ราย ซึ่งคิดเป็นร้อยละประมาณ 0.5 ซึ่งถือว่าอยู่ในอัตราที่ไม่สูงมาก แต่นั่นก็หมายความว่าเราก็ไม่ควรประมาท” นพ.สุวรรณชัย กล่าว