โควิด-19 ป่วน รง.เลิกจ้างแล้วกว่า 8 พันคน | โควิดฉุดเชื่อมั่นค้าปลีกต่ำสุดรอบ 1 ปี 9 เดือน | มีโอกาสเห็นทองคำพุ่งแตะ 27,500 บาท

แฟ้มข่าว

โควิด-19 ป่วน รง.เลิกจ้างแล้วกว่า 8 พันคน

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การเปิดและปิดโรงงานอุตสาหกรรมช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2563) การปิดโรงงาน พบว่าไตรมาสแรกปิดกิจการรวม 212 แห่ง ลดลง 33.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 320 แห่ง แรงงานถูกเลิกจ้าง 8,000 คน ลดลง 42.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 14,000 คน โดยอุตสาหกรรมที่ปิดกิจการลงมากที่สุดคืออาหาร การพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์จากพืช แปรรูปอาหาร ตัวเลขปิดโรงงานดังกล่าวได้สะท้อนว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังไม่แย่นัก ส่วนกระแสข่าวปิดกิจการ เลิกจ้างจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในภาคบริการ สำหรับยอดแจ้งเปิดโรงงานและขยายกิจการในช่วงไตรมาสแรกอยู่ที่ 649 แห่ง ลดลง 24.9% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มียอดเปิดโรงงานและขยายกิจการรวมอยู่ที่ 865 แห่ง มูลค่าลงทุน 59,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 25,000 คน ลดลง 24.2% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 จ้างงาน 33,000 คน

ธ.ก.ส.รับทำประกันภัยข้าวนาปี 45.7 ล้านไร่

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการสร้างภูมิคุ้มกันและเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการผลิต โดยใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 มีเป้าหมายส่งเสริมการทำประกันภัยบนพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ ไม่เกิน 45.7 ล้านไร่ ตามมติคณะรัฐมนตรี โดย ธ.ก.ส.พร้อมอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรสามารถยื่นขอทำประกันภัยได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ เพียงนำบัตรประชาชนไปติดต่อก็สามารถทำประกันภัยได้ทันที สำหรับเงื่อนไขโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 มีทั้งการประกันภัยขั้นพื้นฐาน กรณีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 97 บาทต่อไร่ เท่ากันทุกพื้นที่ กรณีเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงต่ำ อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 58 บาทต่อไร่ ในพื้นที่เสี่ยงปานกลาง อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 210 บาทต่อไร่ และในพื้นที่เสี่ยงสูง อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 230 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยรัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 58 บาทต่อไร่ กรณีเป็นลูกค้าเงินกู้ ธ.ก.ส.ที่ใช้บริการสินเชื่อเพื่อปลูกข้าว ธ.ก.ส.จะจ่ายสมทบค่าเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกร 39 บาทต่อไร่ โดยคุ้มครองในกรณีเกิดภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม/ฝนตกหนัก ภัยแล้ง/ฝนแล้ง/ ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ/พายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว/น้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และช้างป่า วงเงินคุ้มครองจำนวน 1,260 บาทต่อไร่ และในกรณีเกิดภัยศัตรูพืช/โรคระบาด วงเงินคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่

โควิดฉุดเชื่อมั่นค้าปลีกต่ำสุดรอบ 1 ปี 9 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด ไตรมาส 1/2563 พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด ไตรมาสแรกปีนี้ เป็นครั้งแรกของการสำรวจนับจากไตรมาส 3/2561 ที่ค่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 ทุกรายการ หรือต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส (1 ปี 9 เดือน) โดยค่าดัชนีฯ โดยรวมอยู่ที่ 47.2 ดัชนีฯ ในปัจจุบันอยู่ที่ 49.0 และดัชนีฯ อนาคตอยู่ที่ 45.5 ถือเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงกว่าการเกิดวิกฤตจากเทรดวอร์นับจากปลายปี 2561 โดยสาเหตุหลักมาจากผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและสั่งปิดกิจการชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยและการยกเลิกเที่ยวบินชั่วคราว รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภาวะเศรษฐกิจทำให้การบริโภคไม่ขยายตัว ราคาสินค้าเกษตรต่ำ ภาระหนี้ครัวเรือนสูง การส่งออกชะลอตัว และความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง โดยต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา 6 เรื่อง คือ 1.เร่งแก้ปัญหาโควิดระบาดและฟื้นเศรษฐกิจหลังจากนั้น 2.เร่งมาตรการระยะสั้นและยาว ผ่านมาตรการเงินและการคลัง 3.เร่งกระตุ้นบริโภคในประเทศเร่งด่วน 1-3 เดือนต่อเนื่อง และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระดับมหภาค 4.เร่งแก้ปัญหาว่างงานและเพิ่มรายได้ 5.ลดอุปสรรคการจ้างแรงงานต่างด้าว และ 6.ขอให้เร่งมาตรการผ่อนคลายและเปิดกิจการตามปกติ

“วายแอลจี” ย้ำโอกาสเห็นทองคำพุ่งแตะ 27,500 บาท

นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) เปิดเผยว่า ทองคำยังเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกว่าปัจจัยสนับสนุนหลักอย่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะคลายตัว เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลกระทบทุกอุตสาหกรรม ทั้งภาคผลิต ภาคการบริการ และภาคการเงิน ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก สะท้อนได้จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของหลายประเทศที่ออกมาติดลบ และค่อนข้างน่าเป็นห่วง จึงทำให้ทองคำกลับมาได้รับความสนใจสูงมากอีกครั้งในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยแม้ไวรัสจะจบลงได้ ก็ยังเชื่อว่าราคาทองคำคงไม่ได้ปรับลดลงแบบทิ้งตัวลงมาทีเดียว แต่น่าจะเป็นการทยอยปรับลดลงมากกว่า เพราะปัจจัยสนับสนุนให้ราคาทองคำขึ้นต่อเนื่อง ยังมีเรื่องเศรษฐกิจโลกที่เชื่อว่าคงไม่ได้กลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้ง่ายๆ โดยมองว่าราคาทองคำไทยน่าจะแตะระดับ 27,500 บาทได้ภายในปีนี้ หากประเมินในระยะสั้น ทองคำต้องกลับขึ้นไปทดสอบระดับ 1,750 เหรียญสหรัฐอีกครั้ง หากผ่านไปได้ เป้าหมายถัดไปจะอยู่ที่ระดับ 1,800 เหรียญสหรัฐ โดยหากทุกอย่างฟื้นตัว อาจทำให้ราคาทองคำปรับลดลง เพราะผลตอบแทนในตลาดหุ้นอาจจะปรับสูงกว่าขณะนี้ ทำให้นักลงทุนโยกเม็ดเงินจากเดิมที่โถมมาลงทุนในตลาดทองคำกลับไปลงทุนในตลาดหุ้นแทน

แต่คงไม่ได้เลิกซื้อสะสมทองคำไปเลย เพราะยังเป็นสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนดีและปลอดภัย