ต่างประเทศอินโดจีน : ชีวิตในห้วงโควิด-19 ของคนห้องแถวในสิงคโปร์

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่สิงคโปร์ เพิ่มขึ้นพรวดพราดแบบผิดสังเกตจากที่เคยทรงๆ ตัวอยู่ก่อนหน้านี้ กลายเป็นเพิ่มพรวดวันละหลายร้อยราย

กระทรวงสาธารณสุขของที่นั่นบอกว่า ณ วันที่ 14 เมษายน จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดอยู่ที่ 3,252 คน เกือบครึ่งหนึ่งคือ 1,578 คน เป็นแรงงานอพยพที่แออัดยัดทะนานกันอยู่ใน “เมกะ-ดอมิทอรี” หรือหอพักแรงงานที่กระจายกันอยู่มากมายหลายจุดทั่วเกาะสิงคโปร์

สิงคโปร์มี “หอพัก” ที่โดยสภาพแล้วเหมือนกับแฟลตหลายชั้นที่ว่านี้อยู่มากถึง 43 หอพัก รองรับแรงงานต่างชาติที่โยกย้ายเข้ามาทำมาหากินอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่ราว 200,000 คน

คนเหล่านี้เข้ามาทำงานใช้แรงสารพัดที่ค่าจ้างต่ำๆ อาทิ งานก่อสร้าง ซึ่งคนสิงคโปร์ไม่ยอมทำนั่นแหละ

แรงงานเหล่านี้มีทั้งคนจีน, บังกลาเทศ และอินเดีย

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศสิงคโปร์ แรงงานต่างชาติเหล่านี้ก็พลอยได้รับเชื้อไปด้วย ที่สำคัญก็คือมันแพร่ไปในทุกหอพัก มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี

ผลลัพธ์ก็คือ แรงงานทุกคนในหอพักทุกแห่งถูกห้ามออกจากบริเวณหอพักโดยเด็ดขาด ที่ยิ่งไปกว่านั้นมีอีก 8 หอพักที่ถูกเปลี่ยนสภาพกลายเป็นที่กักกันโรค

ห้ามทุกคนออกจาก “ห้อง” โดยเด็ดขาด

 

ปัญหาก็คือ สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานเหล่านี้ไม่ได้ดีเหมือนกับที่ชาวสิงคโปร์ทั่วไปใช้ชีวิตอยู่กับบ้านกัน

บางแห่งสภาพแออัดชนิดต้องใช้ห้องนอนรวมกันตั้งแต่ 12-20 คน และหอพักเกือบทั้งหมดต้องใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน

ในสภาพอย่างนี้ มาตรการ “รักษาระยะห่าง” ระหว่างกันไม่มีทางเป็นไปได้

นับตั้งแต่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มแรงงานข้ามชาติเมื่อราวปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เรื่องนี้ก็กลายเป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนตลอดมา

คำถามสำคัญก็คือ บังคับทุกคนให้อยู่รวมกันแบบนี้ คนที่สุขภาพดีไม่พาลติดเชื้อไปด้วยหรือ?

 

เจเรมี่ ลิ้ม ศาสตราจารย์วุฒิคุณ จากสำนักวิชาการสาธารณสุขซอ ส่วนฮ็อกในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลเอาแต่โฟกัสไปที่คนสิงคโปร์ ปล่อยให้แรงงานอพยพเหล่านี้อยู่ในการบริหารจัดการของเจ้าของหอพักและนายจ้าง

เลยต้องเผชิญกับปัญหาหนักหนาสาหัสอย่างที่เป็นอยู่

อีกปัญหาก็คือ สภาพความเป็นอยู่แออัด ไม่รักษาความสะอาดของหอพักที่มีอยู่แต่เดิมอยู่แล้ว ยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นเพราะทุกคนถูกบังคับให้อยู่แต่ภายใน

อาหารที่พวกเขาได้รับมาระหว่างการกักตัว กลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะคนงานเริ่มกังขาเรื่องคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความพยายามเข้าไปทำความสะอาด ปรับปรุงคุณภาพอาหาร ความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

 

แต่โมหัน ดัตถา ศาสตราจารย์ชาวนิวซีแลนด์ที่ศึกษาวิจัยกรณีแรงงานอพยพที่สิงคโปร์มาเป็นเวลานาน เผยแพร่การสัมภาษณ์ออนไลน์ต่อบรรดาแรงงานในที่กักกัน พบว่าทุกคนหดหู่กดดันมากกว่าปกติเมื่อถูกถามถึงสภาพความเป็นอยู่

หลายคนบอกว่าได้รับจัดสรรอาหารให้ในราคาคนละ 140 เหรียญสิงคโปร์ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปกติ 20 เหรียญเท่านั้น อาหารที่ได้จึงตกอยู่ในสภาพ “อย่างโหด” ตามปากคำของแรงงานเหล่านั้น

ปัญหาสำคัญที่ตามมาอีกอย่างก็คือ 43 หอพักเหล่านี้ คือส่วนที่เป็นที่พักถูกต้องตามกฎหมาย แรงงานก็มี “เวิร์กเพอร์มิต” ถูกต้อง

แต่ยังมีที่ไม่มีเวิร์กเพอร์มิต หรือพักอาศัยอยู่ในหอพักที่ไม่เคยจดทะเบียนเป็นหอพักอีกเท่าใด และอยู่ที่ไหน?

สิงคโปร์จะทำอย่างไรกับแรงงานข้ามชาติที่เป็นเหมือนระเบิดเวลาเหล่านี้?