กสิกรฯ มอง ศก.ไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย | “กยท.” ชง ครม.ประกันราคายางเฟส 2 | “ข้าวเปลือก” ราคาดีสุดในรอบ 5 ปี

แฟ้มข่าว

กสิกรฯ มอง ศก.ไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญความยากลำบากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธนาคารจึงคาดการณ์ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทยปีนี้ติดลบ 5% หากสามารถควบคุมโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ภายในไตรมาส 2/2563 หรือประมาณเดือนมิถุนายนนี้

“เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้คือการลงทุนของภาครัฐ ที่น่าจะทำให้โตได้ 3.3% แต่รัฐบาลจะต้องเร่งรัดโครงการที่ค้างคาหรือโครงการใหม่ให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุด ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนที่บอบช้ำมากพอสมควรน่าจะติดลบ 5% ซึ่งสิ่งสำคัญในตอนนี้คือเราต้องช่วยกันฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้ และสิ่งแรกที่ต้องมีคือความเชื่อมั่นประเทศไทย เชื่อมั่นในรัฐบาล เชื่อมั่นในสาธารณสุขไทย ทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายได้เร็วที่สุด” นางกอบกาญจน์กล่าว

“ข้าวเปลือก” ราคาดีสุดในรอบ 5 ปี

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกในตลาดกระเตื้องขึ้นเป็นลำดับ หลังใช้มาตรการส่งเสริมให้ชาวนาเก็บสต๊อกข้าวและประกันรายได้ รวมถึงตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น ญี่ปุ่น ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง (ความชื้นไม่เกิน 15%) อยู่ที่ 9,200-10,500 บาทต่อตัน ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ 14,000-15,300 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกหอมปทุม 10,000-10,500 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว 15,600 -17,500 บาทต่อตัน เป็นต้น

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้าราคาเพิ่มต่อเนื่อง แตะตันละ 10,000 บาท (ความชื้นต่ำกว่า 15%) แล้ว ถือว่าเป็นราคาที่ดีรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลต่อราคาข้าวเปลือกเกี่ยวสดอยู่ในระดับดีไม่ต่ำกว่า 8,500-9,000 บาท ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยงานรัฐในเรื่องการประกันรายได้ โดยเฉพาะนายจุรินทร์ใช้โครงการประกันรายได้ และหน่วยงานที่เร่งขุดบ่อเก็บน้ำเพื่อเพาะปลูกช่วงที่ผ่านมา แม้ตอนนี้เริ่มวิตกเรื่องหลายพื้นที่อาจเจอปัญหาแล้งนานกว่า 2 เดือน แต่ราคาข้าวที่ดีขึ้น ก็จะยังพอช่วยประคองความเป็นอยู่บางส่วน

“กุลิศ” ดัน กฟผ. สู่อีแกทกรุ๊ป

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้าง กฟผ.ให้แข่งขันภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยแกนหลักในการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะดึงคนรุ่นใหม่ พนักงาน กฟผ.ที่มีศักยภาพ เป็นเด็กทุนในสาขาต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกับหัวหน้าทุกระดับ ตลอดจนกลุ่มสหภาพ กฟผ. เพื่อให้การทำงานเกิดแนวคิดหลากมิติ เบื้องต้นพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่หรือนิวเจนประมาณ 50-100 คน ภายใต้ชื่อทีม exclusive team และที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมเพื่อวางแนวทางทำงานเบื้องต้น คาดเดือนพฤษภาคมนี้จะเห็นความชัดเจนในการคิดนโยบาย แนวทางทำงาน เพื่อเดินหน้าได้ทันที

“ตอนนี้ กฟผ.เปรียบเหมือนยักษ์ที่มีศักยภาพ เป็นหน่วยงานผลิตไฟฟ้าหลักเพื่อสร้างความมั่นคงให้ประเทศ ผมอยากจะให้ยักษ์ตัวนี้ใส่สเก๊ตบอร์ด แล้วมุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นอีแกทกรุ๊ป ที่พร้อมเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในหลายธุรกิจ” นายกุลิศกล่าว

“กยท.” ชง ครม.ประกันราคายางเฟส 2

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 วงเงิน 35,000 ล้านบาท ผ่านโครงการฝากยางไว้ที่บ้านต้านภัยโควิด ที่ กยท.ได้เสนอเป็นมาตรการชะลอการขายยางของเกษตรกรชาวสวนยางจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเข้ารับประกันรายได้ให้ชาวสวนยางพารา ที่ราคายางพาราไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม

“กยท.ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบชาวสวนกำลังเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ต่างจากประชาชนคนไทยกลุ่มอื่นๆ ทั่วประเทศ จึงพิจารณาช่วยเหลือชาวสวนยางตามแนวทางเดิมเพื่อให้ชาวสวนสามารถมีรายได้เพิ่มในช่วงวิกฤต แต่ต้องนำโครงการไปยังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เป็นการเร่งด่วนและขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอใช้งบประมาณจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทของกระทรวงการคลัง” นายประพันธ์กล่าว

“บีโอไอ” เร่งลงทุนเครื่องมือแพทย์สู้โควิด

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า บอร์ดบีโอไออนุมัติมาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ประกอบด้วย 1.มาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 3 ปี ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ จากปกติได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี อาทิ การผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน มาตรการนี้จะครอบคลุมถึงโครงการที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมระหว่างวันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2563 และต้องเริ่มผลิตและมีรายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563

ทั้งนี้ จะต้องจำหน่ายและหรือบริจาคภายในประเทศอย่างน้อย 50% ของปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2563-2564 2.มาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิมเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์

3.การปรับสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำในอุตสาหกรรมทางการแพทย์