คาดเศรษฐกิจจีนยังเปราะบาง “ดีมานด์ช็อก-ว่างงานพุ่ง” ปัญหาใหญ่หลังฟื้นไข้

การหยุดชะงักของภาคการผลิตจีนในช่วงต้นปีนี้จากการระบาดของโรคติดเชื้อ “โควิด-19” โดยเฉพาะเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ที่เป็นแหล่งการผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนอุตสาหกรรมแหล่งใหญ่ของโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตทั่วโลกได้รับความยากลำบากจากการขาดแคลนสินค้าวัตถุดิบเหล่านั้น

แต่การใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดของรัฐบาลจีนทำให้สามารถควบคุมโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว จนโรงงานและภาคธุรกิจหลายแห่งภายในประเทศสามารถกลับมาเดินเครื่องการผลิตได้อีกครั้งในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์กลับพลิกผันเมื่อโควิด-19 ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกในปัจจุบัน

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า “เศรษฐกิจจีน” ยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบางจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะปัญหา “ดีมานด์ช็อก” หรือความต้องการซื้อสินค้าที่ลดลงอย่างรวดเร็วทั่วโลก เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสในประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่กำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมถึงเอเชียอีกหลายประเทศ ทำให้หลายรัฐบาลต้องใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ส่วนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมก็ต้องหยุดการดำเนินการและการผลิตชั่วคราว

“ตรินห์ เหงียน” นักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียของบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน “นาติซีส์” ระบุว่า “เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ดีมานด์ช็อกและซัพพลายช็อกไปพร้อม ๆ กัน แต่ดีมานด์ช็อกมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากผู้บริโภคสินค้าเอเชียรายใหญ่อย่างยุโรปและสหรัฐได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมไวรัส นี่เป็นสัญญาณเตือนว่า ผู้ผลิตในเอเชียกำลังจะต้องเผชิญกับอุปสงค์ที่ถูกกดลงในไตรมาส 2 ของปีนี้”

โดยการสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ “พีเอ็มไอ” ซึ่งใช้เพื่อบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจในภาคส่วนต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ โดยค่าพีเอ็มไอที่สูงกว่า 50.0 ถือได้ว่าภาคเศรษฐกิจนั้นขยายตัว แต่หากต่ำกว่า 50.0 จะเป็นภาพสะท้อนการหดตัว พบว่าภาคการผลิตและภาคบริการของจีนกลับมาเติบโตอีกครั้งในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยค่าพีเอ็มไอภาคการผลิตของจีนอยู่ที่ 52.0 เพิ่มขึ้นมาจากเดือน ก.พ.อยู่ที่ 35.7 แต่ก็ขยายตัวไม่มาก ขณะที่ภาคส่งออกของจีนยังคงอยู่ในภาวะหดตัวในเดือน มี.ค. โดยมีดัชนีพีเอ็มไออยู่ที่ 46.4 เท่านั้น

ขณะที่ดัชนีพีเอ็มไอภาคการผลิตของสหรัฐในเดือน มี.ค.อยู่ที่ 48.5 ส่วนของกลุ่มประเทศยูโรโซนมีค่าพีเอ็มไอภาคการผลิตที่ 44.5 ต่ำสุด นับตั้งแต่ปี 2009 เช่นเดียวกับ

อาเซียนลดลงมาอยู่ที่ 43.4 โดยบริษัทวิจัย “ไอเอชเอสมาร์กิต” ระบุว่า ดัชนีพีเอ็มไอภาคการผลิตลดลงทั่วโลก โดยในเอเชียมีเพียงจีนและไต้หวันที่ดัชนีพีเอ็มไอเพิ่มสูงขึ้นจากเดือน ก.พ.

ซู เสี่ยวเหนียน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินของสถาบันบริหารธุรกิจนานาชาติจีนยุโรป (ซีอีไอบีเอส) ระบุว่า จีนกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง เนื่องจากพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากเกินไป โดยในปี 2019 จีนส่งออกมากถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

“กำลังซื้อภายในประเทศไม่สามารถรองรับกำลังการผลิตขนาดใหญ่ของจีนได้”

ขณะที่ “คูน โกะห์” หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียของธนาคารเอเอ็นแซด ระบุว่า สถานการณ์เหล่านี้เป็นสัญญาณไม่ดีสำหรับจีน เนื่องจากความต้องการสินค้าของคู่ค้ารายใหญ่ที่ลดลงอย่างมาก อาจสร้างแรงกดดัน ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปีนี้ย่ำแย่กว่าไตรมาส 1

ทั้งยังส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังตลาดแรงงาน “เจย์ หวัง” เจ้าของโรงงานผลิตรองเท้าในเมืองตงกวน มณฑลกวางตุ้งของจีน ที่กลับมาเริ่มผลิตอีกครั้งหลังจากสถานการณ์ดีขึ้น เปิดเผยว่า “นับจากปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ได้รับคำสั่งซื้อรองเท้ามากกว่า 90,000 คู่ แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการยกเลิกคำสั่งซื้อถึง 80,000 คู่” โดยนายหวังระบุด้วยว่า อาจจำเป็นต้องให้พนักงานหยุดโดยจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำในเดือน เม.ย.

เช่นเดียวกับบริษัทผู้ผลิตนาฬิกา “กู๊ดวิลล์วอตช์” ที่สนับสนุนให้พนักงานลาออก หลังจากที่ “ฟอสซิล” แบรนด์นาฬิกาชื่อดังซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่สุดในสหรัฐ ประกาศปิดร้านสาขาชั่วคราวทั้งหมดในอเมริกาเหนือและยุโรป ทำให้ยอดสั่งซื้อนาฬิกาลดฮวบทันที

ทั้งนี้ อัตราการว่างงานทั่วประเทศของจีนเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 6.2% ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีชาวจีนตกงานราว 5 ล้านคนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2020 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการจีนเปิดเผยว่า มีบริษัทจำนวนมากที่เปิดโครงการให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ

สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างยากลำบาก และมีความเปราะบางมากขึ้นจากภาวะเงินฝืด ซึ่งเป็นผลจากสงครามราคาน้ำมัน ความอ่อนแอของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ไปจนถึงความเสี่ยงการแพร่ระบาดระลอก 2 ของโควิด-19 จากการเร่งผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค กล่าวได้ว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงไม่สดใสในเร็ววัน