โควิดทุบเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกวูบ 1.5 ล้านล้าน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ศูนย์พยากรณ์ฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 50.3 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยปัญหาหลักมาจากโควิด-19 กระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งรายได้ การหางานทำ และเศรษฐกิจโดยรวม พร้อมยังประเมินครึ่งปีแรกของปี คาดเม็ดเงินจะหายออกจากระบบเศรษฐกิจถึง 1.5 ล้านล้านบาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2563 ยอมรับว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นการต่ำสุดเทียบเคียงได้กับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2541 และเมื่อประเมินเศรษฐกิจไทยขณะนี้ กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย จากภาวะเศรษฐกิจหดตัว การว่างงานเพิ่มขึ้น กระทบต่อรายได้ของผู้บริโภค กำลังซื้อลดลงในช่วงไตรมาส 2 และเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 3 กำลังซื้อจะชะลอตัว ดังนั้น ในช่วง 3 เดือนจากนี้ (เมษายน ถึง มิถุนายน) จะเป็นตัวประเมินว่าการควบคุมปัญหาจะคลี่คลายได้เร็วหรือไม่ ซึ่งจะสะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกันนี้ สัปดาห์ ศูนย์พยากรณ์ฯ จะประเมินเศรษฐกิจไทยอีกครั้งซึ่งคาดว่าจะติดลบ

“จากภาวะปัจจุบันผู้บริโภค WFH กันมากขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อจากภาวะปกติอยู่ที่ 20,000 ล้านบาทต่อวัน ลดลงคงเหลือ 5,000 ล้านบาทต่อวัน ทั้งมาจากรายได้ผู้บริโภคลดลง ระวังการจ่ายมากขึ้นเนื่องจากความไม่มั่นใจเศรษฐกิจในอนาคต นักท่องเที่ยวลดลง ไตรมาส 1 หายไปประมาณ 40% และเชื่อว่าไตรมาส 2 จะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทย จากปกติเข้ามาประมาณ 9 ล้านคน พร้อมกันนี้ จากการประเมินปัญหาทั้งภาคการท่องเที่ยว การบริโภค เศรษฐกิจ คาดการณ์ว่าครึ่งปีแรกของปี 2563 เม็ดเงินจะหายออกไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 7 แสนล้านบาท และหากดูทั้งปีประกอบจากปัจจัยของการลงทุนลดลง ค้าชายแดนชขะลอตัว การส่งออก คาดว่าเม็ดเงินจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจถึง 1-1.5 ล้านล้านบาท”

อย่างไรก็ดี ยังคงประเมินให้สถานการณ์ของปัญหาโควิด-19 คลี่คลายได้ภายในไตรมาส 2 แม้เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในทางเทคนิคใน 2 ไตรมาส แต่เชื่อว่าไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นและขยายตัวเป็นบวก โดยอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีโอกาสติดลบ แต่ก็ยังทำให้เศรษฐกิจ กำลังซื้อ กลับมาดีขึ้น ซึ่งขณะนี้ ภาครัฐก็อยู่ระหว่างการออกนโยบายดูแลทุกภาคส่วน แม้อาจจะไม่ชัดเชนบ้างในกรอบระยะเวลาในการดูแล แต่นโยบายของรัฐบาลนั้นต้องการที่จะประคองสถานการณ์และแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น ซึ่งออกนโยบายทั้งด้านการเงินและการคลัง เพื่อที่จะดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

ด้านนายปรีดา โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการโดยส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับ 64.8 อยู่ที่ระดับ 50.3 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 258 เดือนหรือ 21 ปี 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 41.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ระดับ 49.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 59.9 โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่อยู่ในระดับ 52.2 61.4 และ 80.4 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เนื่องจากการปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละรายการปรับตัวลดลงมากกว่า 10 จุดภายในเดือนเดียว โดยปัญหาหลักมาจากความกังวลในวิกฤต COVID19 ทั่วโลก ซึ่งการปรับตัวลดลงอย่างมากภายในเดือนเดียวทุกรายการเช่นนี้ ยอมรับว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลยตลอด 21 ปี 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 ที่ศูนย์พยากรณ์ฯ สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมา ดังนั้น จากการติดตามยังคงมองว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะยังไม่ฟื้น และคาดว่าผู้บริโภคจะชะลอการใช้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อย 3-6 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไป

ส่วนปัจจัยบวกที่กระทบ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.75% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ รัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง ส่วนปัจจัยลบ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว การประกาศประกาศใช้ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลต่อการประกอบธุรกิจ การประมาณการทางเศรษฐกิจของประเทศลดลง ซึ่งแต่ละปัจจัยล้วนกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของประเทศ