พีระพันธุ์ ชี้ จากนี้ไปประเทศไทยไม่เหมือนเดิม จะพึ่งส่งออก-ท่องเที่ยวไม่ได้อีกแล้ว

พีระพันธุ์ ชี้ เตรียมความพร้อมหลังโควิด ระบาด จากนี้ไปประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม จะพึ่งส่งออก-ท่องเที่ยวไม่ได้อีกแล้ว

เมื่อวันที่ 9 เมษายน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า เตรียมความพร้อมหลังวิกฤติโควิด

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผมแทบจะไม่มีเวลาหยุดพักเลยครับ ยิ่งมีสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 ระบาดก็ยิ่งไปกันใหญ่ มีงานที่ต้องทำมากมายจริงๆ เพื่อประเทศและพี่น้องประชาชนของเรา

ท่ามกลางความวิตกกังวลเรื่องสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจของโลกและของประเทศเราในขณะนี้ เรายังมีเรื่องน่าดีใจ นั่นคือความสมัครสมานร่วมมือร่วมใจกันของพี่น้องชาวไทยแทบทุกกลุ่มจนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดต่อวันจากกว่าร้อยก็ลดลงเหลือเลขสองหลัก เมื่อวันที่ 6 เมษายน 63 วันมงคล “วันจักรี” จำนวนผู้ติดเชื้อลดฮวบเหลือ 51 ราย และในวันที่ 7 เมษายน 63 ลดลงเหลือ 38 ราย แม้เมื่อวานนี้ 8 เมษายน 63 จะกลับมาอยู่ที่ 111 ราย แต่ก็มาจากผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศถึง 42 ราย ถ้าไม่นับกลุ่มนี้ก็ยังคงอยู่ที่เลขสองหลักตามเดิม ไม่เป็นไรครับ อดทนอีกนิด ร่วมมือกันอีกหน่อย แล้วเราจะชนะมันด้วยกันครับ

ในขณะที่เรากำลังรับมือกับวิกฤติโควิดกันนี้ ผมคิดว่าจากนี้ไปโลกและประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม ทั้งเศรษฐกิจและสังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เราจึงควรจะต้องคิดและเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงภายหลังวิกฤติโควิดด้วย

เราจะหวังพึ่งพิงเพียงรายได้จากการส่งออกและจากการท่องเที่ยวจากต่างชาติอย่างเดิมคงไม่ได้อีกต่อไป จากนี้ไปเราอาจจะได้เห็นแต่ประเทศที่ปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศเพื่อรักษาชีวิตตัวเองก่อนที่จะพิทักษ์อุดมการณ์เรื่องการค้าเสรีดังแต่ก่อน​

เราจึงต้องหันกลับมาพึ่งพาตัวเองสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้มากขึ้น แม้เราจะมีคนเพียง 60-70 ล้านคน แต่ตัวเลขนี้ก็ไม่น้อยเกินกว่าที่จะทำให้เรายืนบนขาตัวเองได้ในระดับหนึ่งตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 9

เราจะต้องนำจุดแข็งของประเทศมาต่อยอด นั่นคือ เรื่องความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารและความเป็นหนึ่งในเรื่องการดูแลสุขภาพ

เราจะต้องเร่งพัฒนาและส่งเสริมด้านการเกษตรทุกมิติเพื่อทำให้ไทยเป็น “ครัวโลก” ต้องนำระบบ e – commerce เข้ามาช่วยให้เกษตกรสามารถ “ขายตรงสินค้าเกษตร” ไปยังผู้บริโภคจริงโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น

เราต้องเดินหน้าสร้างประเทศไทยให้เป็น “ศูนย์กลางการดูแลสุขภาพ” จากที่มีชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และจากการรับมือกับวิกฤติโควิดครั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันว่าเราสามารถจัดการกับเจ้าโควิดได้ดีในระดับนำของโลก ดีกว่าแม้แต่เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ

เราจำเป็นต้องสร้าง Platform ของประเทศของเราเองเพื่อเป็นฐานให้เกิด e – commerce ภายในประเทศ พร้อมๆไปกับการเชื่อมต่อกับ platform อื่นทั่วโลกเพื่อสร้างตลาดให้กับคนไทยและสินค้าไทยให้กระจายไปทั่วโลกด้วยต้นทุนที่ไม่สูงนัก ​

เราจะต้องส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ด้วยตนเองให้มากกว่าการพึ่งพาแต่จากการซื้อจากต่างประเทศ ซึงผมมั่นใจว่าคนไทยทำได้ขอให้มีการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ

วิกฤติโควิดครั้งนี้เราได้เห็นฝีมือคนไทยในระยะเวลาสั้นๆ อย่างมากมาย เช่น การคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ตรวจการติดเชื้อโควิด การผลิตเตียง negative pressure สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด การประดิษฐ์หุ่นยนต์ฉายแสง UV-C เพื่อฆ่าเชื้อโรค การประดิษฐ์หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ในการติดต่อสื่อสารและตรวจผู้ป่วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อของแพทย์และพยาบาล ที่สำคัญคือการที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังสามารถประดิษฐ์เครื่องช่วยหายใจได้ในราคาเพียง 5,000 บาท ในขณะที่ต้องซื้อหาจากต่างประเทศเครื่องหนึ่งนับล้านบาท

เหล่านี้จะต้องได้รับการพัฒนาและส่งเสริมอย่างจริงจังจากภาครัฐเพื่อสร้างอุตสาหกรรมและนวัตกรรมใหม่ของประเทศขึ้นมา ตรงนี้โยงไปถึงเรื่องเป้าหมายการเรียนการสอนทั้งในระดับ โรงเรียน อาชีวะและมหาวิทยาลัยที่ควรจะต้องวางทิศทางหลักสูตรการศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของประเทศและสังคมและเพื่อให้อนาคตของชาติเหล่านี้สามารถเลี้ยงตัวเองได้

​เราจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเราต้องการให้เด็กไทยวันนี้เติบโตมาพร้อมกับความรู้และฝีไม้ลายมือในด้านไหน จะไปทำงานหรือทำมาหากินอะไร ​

สำคัญที่สุดคือผมคิดว่าประชาชนจำนวนมากจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจอีกยาวและอีกนาน จะมีคนตกงานมีคนว่างงานและมีกิจการขนาดกลางขนาดเล็กขนาดย่อมล้มระเนระนาดจำนวนมากในขณะที่กิจการขนาดใหญ่ยังอยู่รอด คนรวยยังยังอยู่รอด ผู้บริหารระดับสูงเงินเดือนสูงๆ ยังอยู่รอด นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม หากไม่แก้ไขจะนำมาซึ่งปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาการเมืองที่จะสร้างความวุ่นวายซ้ำเติมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทางเดียวที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ คือ การสร้างงานสร้างโอกาสใหม่ให้ประชาชนรวมถึงกิจการขนาดกลางขนาดเล็กขนาดย่อม โดยที่รัฐจะต้องเป็นโต้โผใหญ่จัดโครงสร้างให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันแบบสมประโยชน์ทุกฝ่าย ​เติมเต็มซึ่งกันและกัน ธุรกิจก็มีความก้าวหน้าคนก็มีงานทำเลี้ยงชีพ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสังคม

พร้อมกันนั้นจะต้องลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการสร้างระบบ “เศรษฐกิจแบบแบ่งปันหรือแบบเจือจาน” (Sharing Economy) ขึ้นมา ​

รัฐต้องวางระบบและจูงใจให้ทั้งปัจเจกบุคคลและผู้ประกอบการที่มีรายได้สูงรู้จัก “แบ่งปันและเจือจาน” ให้สังคมในรูป แบบต่างๆ เพื่อให้เกิด “การดูแลกันและกัน” ให้มาก ​

อีกด้านหนึ่งรัฐต้องเร่งปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองจากผู้สั่งการมาเป็นผู้กำกับดูแลให้เกิดการประสานงานและการช่วยเหลือกันและกันในเศรษฐกิจและสังคมแบบแบ่งปันและเจือจานให้ได้

ผมเชื่อมั่นว่าหากเราเดินไปในทิศทางเศรษฐกิจและสังคมแบบนี้จะทำให้พวกเราทุกคนไปรอดหลังวิกฤติโควิดครับ