ผู้นำแรงงาน ชง “สปส.” ปรับเพิ่มจ่ายชดเชย “กลุ่มตกงาน” เป็น 6 เดือน

ผู้นำแรงงาน ชง “สปส.” ปรับเพิ่มจ่ายชดเชย “กลุ่มตกงาน” เป็น 6 เดือน เผยมีอีกนับแสนตกหล่น จี้ชดเชยแบบไม่มีเงื่อนไข

นายมนัส โกศล สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวถึงมาตรการของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในการจ่ายเงินชดเชยผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า เรื่องดังกล่าวนี้ได้มีการส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว ทั้งนี้ในการที่รัฐบาลจะมีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนในอัตรา ร้อยละ 62 ซึ่งจะมีแรงงานในระบบจะได้เงินชดเชยไม่ถึง 5,000 บาท อีกจำนวนหนึ่ง เพราะอัตราการเก็บเงินสมทบของเราเริ่มต้นที่ 1,650 บาท และเท่าที่ได้ตรวจสอบกับทางประกันสังคม พบว่ามีผู้ประกันตนที่จ่ายเงินต่ำกว่า 8,000 บาท ค่อนข้างจะมีจำนวนมาก

“ดังนั้น ลูกจ้างกลุ่มนี้เขาจะไม่ได้รับเงินชดเชย จำนวน 5,000 บาท เท่ากับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่รัฐบาลให้ ตรงนี้จะเกิดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ คือกลุ่มแรงงานที่รับบำนาญชราภาพ 2,000-4,000 บาท ซึ่งจะรับเงินในช่วงอายุ 55 ปี และประกอบกิจการส่วนตัว เช่น เปิดร้านเสริมสวย ตัดผมทำงานนอกระบบบ้าง ซึ่งกลุ่มนี้หากดูตามข้อกำหนดของรัฐบาล จะไม่ได้รับเงินชดเชยเช่นกัน เพราะได้รับเงินบำนาญ ซึ่งมีอยู่ประมาณกว่า 200,000 คน ซึ่งมองว่าคนกลุ่มนี้ควรจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลซึ่งจะต้องไปอยู่ในโครงการของทางกระทรวงการคลัง” นายมนัส กล่าว

นอกจากนี้ นายมนัส กล่าวว่า มองว่ากระทรวงแรงงานควรจะมีการขยายระยะเวลาในการชดเชยเช่นเดียวกับกระทรวงการคลัง ที่ขยายจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน แต่ระบบของกระทรวงการคลังดำเนินการง่ายกว่าของกระทรวงแรงงาน

“อย่างไรก็ตาม มองว่ามาตรการของรัฐบาลจากที่ได้มีการประเมินพบว่า มีคนประมาณ 10 กลุ่ม ที่จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ เช่น กลุ่มคนที่ว่างานมาก่อนหน้านี้ มองว่าควรได้รับการช่วยเหลือเพราะเขาถูกแรงเหวี่ยงจากผลกระทบโควิด-19 แล้วจะหางานทำได้ที่ไหนในสภาวการณ์เช่นนี้ ทำให้เขาว่างานไปเรื่อยๆ จึงคิดว่าคนกลุ่มนี้ควรจะได้รับเช่นเดียวกันจะได้ของครอบคลุมทั่วถึง ทางที่ดีที่สุด จากที่เรามีการคำนวณตัวเลขที่รัฐบาลจ่าย หากนำตัวเลข 9 ล้านคน มาคูณ 6 เดือน แล้วดูยอดผู้ประกันตน หรือผู้ที่มีงานทำอายุ 18 ขึ้นไป มีอยู่ประมาณ 20 กว่าล้านคน ถ้าสมมติจ่ายทั้งหมด ซึ่งอาจจะไม่ถึง 6 เดือน อาจจะระยะสั้น 3 เดือน จำนวนเงินก็น่าจะพอๆ กับที่รัฐบาลจ่ายให้ 6 เดือน” นายมนัส กล่าว

ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง

ด้านนายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีแรงงานในระบบเรียกร้องให้มีการขยายระยะเวลาการจ่ายชดเชยเช่นเดียวกับกระทรวงการคลังว่า เรื่องนี้จะต้องมีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก่อน

ส่วนกรณีคณะกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย และ ส.ส. ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ สปส.จ่ายเงินทดแทนผู้ประกันตนมาตรา 33 ทั้งในส่วนของที่รัฐสั่งปิดชั่วคราว และส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคโควิด-19 ทั้งหมดนั้น นายดวงฤทธิ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน มีการประชุมกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย รวมถึงสมาชิกสภาแทนราษฎรของพรรค โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลขาธิการพรรคทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในกรณีผู้ประกอบการที่จะต้องหยุดกิจการเพราะสภาวะวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

“ก่อนหน้านี้ ประกันสังคมจะเข้าไปดูแลได้ใน 2 กรณี คือ รัฐบาลสั่งปิด และมีกลุ่มเสี่ยงหรือคนที่เป็นโควิด-19 ทำงานอยู่ในโรงงานหรือบริษัทนั้น แต่ตอนนี้ทางพรรคมีความเห็น และมีจุดยืนว่าผู้ประกอบการและลูกจ้างอื่นที่ได้รับผลกระทบก็ควรที่จะได้รับการช่วยเหลือดูแลด้วย เพราะถึงเราจะไม่สั่งปิดในธุรกิจบางประเภท แต่ก็เหมือนสั่งปิด เพราะมีการปิดจังหวัด ปิดเมือง ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ฉะนั้นมองว่าเรื่องนี้ก็จะเข้าเหตุสุดวิสัย จึงต้องช่วยผู้ประกันตนในมาตรา 33 ทั้งหมด ซึ่งในส่วนนี้จะมุ่งเน้นไปที่คนเดือดร้อนมากก่อน ส่วนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ลดเงินเดือน หรืออื่นๆ นั้น ต้องบอกว่าประกันสังคมเข้าไปช่วยได้ร้อยละ 62 ฉะนั้นสำหรับผู้ประกันตนที่ผู้ประกอบการสามารถจ่ายเงินเดือนได้ เช่น ร้อยละ 75 หรือมีการพูดคุยลดโบนัสลดเงินพิเศษ มองว่าเราต้องก้าวผ่านไปด้วยกัน และต้องช่วยกันไป” นายดวงฤทธิ์ กล่าว