‘บอร์ด ก.ค.ศ.’ เห็นชอบสอบครูผู้ช่วย ใช้ข้อสอบภาค ก ของ ก.พ. ส่วนภาค ค. สอบสัมภาษณ์-ปฏิบัติ

‘บอร์ด ก.ค.ศ.’ เห็นชอบสอบครูผู้ช่วย ใช้ข้อสอบภาค ก ของ ก.พ. ส่วนภาค ค. สอบสัมภาษณ์-ปฏิบัติ

ครูผู้ช่วย – เมื่อวันที่ 8 เมษายน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่ ก.ค.ศ. เสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยให้มีการประเมินความรู้และทักษะที่จำเป็น ประกอบด้วยทักษะดิจิทัล ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง และกำหนดให้มีการขึ้นบัญชีไว้เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยยกเลิกการประเมินแบบ 360 องศา และได้กำหนดหลักสูตรการคัดเลือกใหม่ แบ่งเป็น 3 ภาค ภาค ก ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานในหน้าที่ ภาค ข ความสามารถทางการบริหาร ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง ส่วนวิธีการคัดเลือกให้ สพฐ. เป็นผู้ดำเนินการได้เอง

นายณัฏฐพลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไป สพฐ. ประจำปี 2563 โดยปรับวิธีการสอบภาค ก มาใช้แนวทางการสอบของ ก.พ. ทั้งนี้ให้มีการขึ้นบัญชีผู้ผ่านการประเมินภาค ก และภาค ข เป็นบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินภาค ค เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยเรียงตามลำดับผู้ที่ได้คะแนนจากมากไปหาน้อย ส่วนการประเมิน ภาค ค ให้ประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ การสอบปฏิบัติการสอน และพิจารณาจากแฟ้มผลงาน หลักเกณฑ์และวิธีการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้สถานศึกษามีส่วนร่วมในการคัดเลือกครู เพื่อให้ได้ครูที่มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนตามบริบทของสถานศึกษาและชุมชน สอดคล้องกับงานวิจัยและแนวปฏิบัติในการคัดเลือกครูที่เป็นสากล รวมทั้งเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด และรองศึกษาธิการจังหวัด จากเดิมที่ไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก โดยการคัดเลือกดังกล่าวกำหนดให้มี 4 องค์ประกอบ คือ การคัดกรอง การคัดเลือก การพัฒนาก่อนการบรรจุและแต่งตั้ง และการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษา ซึ่งจะมีการขึ้นบัญชีผู้ผ่านการคัดเลือก จะมีอายุ 2 ปี

“เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา โดยให้มีการพัฒนาฯ ก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา รวมเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการเดียวกัน และให้ใช้กับทุกส่วนราชการ โดยมีสาระสำคัญ เช่น ให้มีระยะเวลาการพัฒนาตามขอบข่ายการพัฒนาไม่น้อยกว่า 120 ชม. ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และไม่น้อยกว่า 150 ชม. ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นต้น” นายณัฏฐพล กล่าว

รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุม เห็นชอบการขอยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. เนื่องจาก คปร. ไม่ได้ให้คืนตำแหน่งให้กับสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คนลงมา จากที่ สพฐ.ขอยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่าง แต่เนื่องจาก คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ไม่ได้ให้คืนตำแหน่งให้กับสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คนลงมา เนื่องจากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการ ในการนี้จึงพิจารณาเห็นว่า สพฐ. ประสบปัญหาขาดแคลนผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียน น้อยกว่า 120 คนลงมา ในพื้นที่ปกติที่ไม่สามารถควบรวมกับโรงเรียนอื่นได้ ประกอบกับโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คนลงมา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงเห็นควรขอยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่าง ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คนลงมา จำนวน 556 แห่ง รวม 556 อัตรา และให้เสนอไปยัง คปร. พิจารณาต่อไป

“ผมเน้นย้ำถึงทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนายการ สพท. รองผู้อำนวยการ สพท. ศธจ. และ รอง ศธจ. รวมทั้งตำแหน่งครูผู้ช่วย เช่น ทักษะด้านดิจิทัล ที่ผู้บริหารจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเอ็กเซล ส่วนครูจะต้องทำสื่อการสอนที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันจะเห็นชัดเจนแล้วว่าเมื่อมีปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด-19 ครูจะต้องมีความสามารถอะไรบ้าง เรื่องเหล่านี้จะเป็นแนวทาง ที่ ก.ค.ศ.ไปปรับ คาดว่าจะประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้รับทราบภายใน 1 ปี เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าใจและรับทราบถึงมาตรฐานของบุคลากรในตำแหน่งต่างๆ ต่อไป” นายณัฏฐพลกล่าว