กกร.ฟันธงปีนี้ GDP-ส่งออก ติดลบ ตกงาน 7 ล้านคน เสนอทางช่วย!

กกร. เผยผลกระทบจากโควิด-19 ทำจีดีพีร่วง ส่งออกติดลบ คนตกงาน 7 ล้านคน เสนอวิธีทางรัฐช่วยเหลือแรงงงาน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่าที่ประชุมยังไม่มีการพิจารณาปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2563 เพื่อรอประเมินผลการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนก่อนพิจารณาปรับลดเป้าหมายในการประชุมเดือนพ.ค.อีกครั้ง

โดยปัจจุบันคาดการณ์จีดีพีปีนี้โตที่ 1.5-2% ขณะที่การส่งออกคาดจะติดลบ 5-10% จากเดิมคาดการณ์เลวร้ายสุดติดลบ 2% เงินเฟ้อติดลบ 1.5% จาก 0-0.5% แม้การระบาดของเชื้อโควิด-19 จะสามารถยุติลงได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก แต่การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็คงต้องใช้เวลากว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ต้องยอมรับจีดีพีปีนี้คงติดลบแน่นอน ไม่สามารถเป็นบวกได้ เพราะที่ประชุมมองว่าแม้ภาครัฐจะมีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบระยะที่ 1-2 รวมกับมาตรการที่ให้กระทรวงการคลังและธปท. ดำเนินการเพิ่มเติมแล้วก็ตาม แต่โดยรวมก็อาจไม่สามารถทดแทนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจและประชาชนจากการขาดรายได้และการหยุดหรือปิดกิจการ

โดย กกร.ประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยจะมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท และจนถึงเดือนมิ.ย.คาดจะมีคนตกงาน 7 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีประมาณ 6 ล้านคน ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จากแรงงานทั้งระบบของประเทศมี 38 ล้านคน

โดยเฉพาะศูนย์การค้าและค้าปลีกคาดจะตกงาน 4.2 ล้านคน ธุรกิจก่อสร้างคาดตกงาน 1 ล้านคน กิจการโรงแรมคาดตกงาน 9.78 แสนคน ร้านอาหารคาดตกงาน 2.5 แสนคน สปา/ร้านนวดนอกระบบคาดตกงาน 2 แสนคน ธุรกิจสิ่งทอคาดตกงาน 2 แสนคน เป็นต้น แต่หากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ลากยาวจนถึงปลายปีนี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่แย่ลงในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ กกร.ขอติดตามประเมินผลมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 จากการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปล่อยสินเชื่อ/พักชำระหนี้ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนและผู้ประกอบการ รวมถึงดูแลเศรษฐกิจและสังคมก่อนว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร เพราะเบื้องต้นมองว่าน่าจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ติดลบน้อยลง

กกร.เสนอรัฐแก้ปัญเศรษฐกิจ

นายสุพันธ์ กล่าวว่า ทาง กกร.จึงขอเสนอมาตรการช่วยเหลือแรงงาน สำหรับพนักงานที่สมัครใจหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือนซึ่งไม่มีสิทธิ์ขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือนจากภาครัฐนั้น ต้องการให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินช่วยเหลือ 50% ของเงินเดือน

รวมทั้งขอเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ยังควรได้รับเงินเดือน 75% แบ่งเป็นสำนักงานประกันสังคมจ่าย 50% และนายจ้างจ่าย 25% โดยให้บริษัที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้สามารถนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือน/ค่าจ้างแรงงานมาหักภาษีได้ 3 เท่า

นอกจากนี้ ขออนุญาตให้มีการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงเพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยให้คิดค่าแรงเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 40-41 บาทต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และไม่เกิน 8 ชั่วโมง จากค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน

ในส่วนของมาตรการดูแลผู้ประกอบการ ขอให้ภาครัฐออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรมหรืองานบริการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการจากรัฐบาล และขอให้ปรับลดค่าไฟฟ้าช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการเพิ่มเป็น 5% จาก 3%

รวมทั้งให้รัฐจัดสรรงบประมาณการจ้างงาน ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศในราคาที่เหมาะสมโดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้ในสถานการณ์โควิด-19 และต่อเนื่องในระยะยาวหลังเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มเป็น 80% จาก 40%