8เม.ย.กกร.นัดถกแผนกู้ศก.1.9 ล้านลบ. พร้อมชงข้อเสนอเพิ่ม จ่อหั่นจีดีพี – ส่งออกรอบ4

8เม.ย.กกร.นัดถกแผนกู้เศรษฐกิจของรัฐ 1.9 ล้านล้านบาท พร้อมชงข้อเสนอเพิ่ม จ่อหั่นจีดีพี – ส่งออก หลังสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อ

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 8 เมษายนนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วยส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย โดยกกร.จะร่วมกันพิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐาาล ชุดที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร จะช่วยประคองภาพรวมเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งจะช่วยเยียวยาผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนที่รับผลกระทบเพียงพอหรือไม่ นอกจากนี้จะหารือภาพรวมเศรษฐกิจร่วมกัน และอาจเสนอมาตรการเพิ่มเติมกับภาครัฐด้วย

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า นอกจากนี้จะพิจารณาปรับตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทย (จีดีพี) และการส่งออกปี 63 ว่ามีแนวโน้มจะลดลงเท่าไร หลังจากการประชุมเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กกร.ได้ลดเป้าหมายจีดีพี เหลือ 1.5-2% และคงตัวเลขการส่งออกที่ติดลบ 2 ถึง 0% ซึ่งการปรับตัวเลขเดือนเมษายนนี้ ถือเป็นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา จากปกติจะพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจทุก 3 เดือน เนื่องจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทั่วโลก ยังมีผู้ติดเชื้อโดยรวมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

“ยอมรับว่าภาคเอกชนมีความกังวลว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจไม่จบโดยเร็ว ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เอง ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 63 ติดลบ 5.3% ส่วนตัวมองว่า ทั้งตัวเลขจีดีพีและตัวเลขส่งออกจะติดลบ ส่วนกกร.จะปรับลดตัวเลขจีดีพี และส่งออกอย่างไร จะต้องหารือในที่ประชุมร่วมกันอีกครั้ง”นายสุพันธุ์กล่าว

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด โดยให้ความสำคัญ 2 แผนสำคัญได้แก่ 1.แผนสำรองทางธุรกิจ(บีซีพี) เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉิน โดยให้ทุกภาคอุตสาหกรรมเตรียมไว้รองรับเพื่อไม่ให้กระทบกับธุรกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะการคุมเข้มการคัดกรองพนักงานเข้าโรงงานเพื่อให้กระบวนการผลิตนั้นไม่ได้รับผลกระทบ เพราะหากพนักงานติดเชื้อเพียง 1 คนจะทำให้กระบวนการผลิตต้องหยุดได้ เนื่องจากต้องกักกันพนักงานที่ใกล้ชิดทั้งหมด 14 วัน 2.การเตรียมแผนรองรับกรณีที่อาจจะมีการปิดเมืองหรือล็อคดาวน์ อาทิ จ.ภูเก็ต หรือ พื้นที่อื่น อาทิ กทม. ประเด็นนี้จะต้องวางแผนการบริหารจัดการเรื่องขนส่งและการกระจายสินค้าอย่างทันท่วงที รวมทั้งจัดทำมาตรการที่จำเป็นเพื่อเสนอรัฐบาล