สพฐ.มั่นใจเลื่อนเปิดเทอมไม่กระทบ เล็งทำหนังสือแจงอว. ขยับสอบเข้ามหา’ลัยปี64

สพฐ.มั่นใจ เลื่อนเปิดเทอมไม่กระทบ เล็งทำหนังสือแจง อว. ขยับสอบเข้ามหา’ลัยปี64

เมื่อวันที่ 7 เมษายน นายอำนาจ  วิชยานุวัติ  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563  ออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม จากเดิมเปิดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปีนั้น  จากนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะทำหนังสือถึงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ ซึ่งในส่วนของการสอบต่าง ๆ ก็อาจต้องขยับออกไป เช่น การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต  และการสอบเพื่อนำคะแนนไปใช้ในการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ทั้งการสอบวิชาความถนัดทั่วไปหรือGAT และความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือPAT   การสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ซึ่งอาจต้องเลื่อนวันสอบออกไปเล็กน้อย แต่จะไม่กระทบต่อการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา2564

“ส่วนการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 นั้น จะเป็นการเรียนต่อ โดยจะเริ่มภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 1 ธันวาคม สิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2564 และเปิดภาคเรียนที่ 1ปีการศึกษา 2564 ได้ภายในเดือนพฤษภาคมได้ตามเดิม ซึ่งเท่ากับว่า เด็กจะมีเวลาปิดภาคเรียนประมาณ 15 วันก่อนเปิดเทอม   ส่งผลให้การสอบต่าง ๆ ทั้งการสอบโอเน็ต หรือการสอบเพื่อนำคะแนนไปใช้ในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2564 ไม่กระทบมากนัก  เพราะเลื่อนเพียงช่วงเวลาสอบเพียงไม่กี่วัน มหาวิทยาลัยยังสามารถเปิดเทอมในเดือนมิถุนายนได้ทันตามกำหนด อีกทั้งบางมหาวิทยาลัยก็เปิดเทอมในเดือนสิงหาคม-กันยายน ตามประเทศอาเซียน”นายอำนาจกล่าว

นายอำนาจ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้แม้จะเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไป การเรียนที่บ้านหรือการเรียนออนไลน์ก็ยังมีความจำเป็น  เพราะช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ทำให้เด็กต้องปิดเทอมยาวถึง 3 เดือน ดังนั้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในกระบวนการเรียนรู้จึงต้องจัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ โดยสพฐ. ได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอช่องทีวี 13 ช่อง แบ่งเป็นระดับอนุบาล 1 ช่อง  ส่วนอีก 12 ช่อง เป็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งนี้ในส่วนของเด็กโตนั้น อาจต้องหาอุปกรณ์เสริมเข้ามาช่วย อาทิ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน  คอมพิวเตอร์พีซี คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ต ซึ่งหากนักเรียนคนใดไม่มีอุปกรณ์ ก็อาจต้องหางบมาจัดซื้อแท็บเล็ต เพื่อให้ใช้ในการเรียน ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของครม.