กุมขมับ! คาดส่งออกปี 63 ติดลบไม่ต่ำกว่า 8% ลุ้นระทึก! อาจแตะเลขสองหลัก ต่ำสุดรอบ 10 ปี

วันที่ 7 เมษายน 2563 น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 ว่า จะติดลบไม่ต่ำกว่า 8% และมีโอกาสหดตัวถึงตัวเลขสองหลักบนสมมติฐานค่าเงิน 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากติดลบตัวเลขสองตัวก็ถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยมีปัจจัยบวกสำคัญคือ การค้าขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มสินค้าอุปโภคและสินค้าเวชภัณฑ์ เนื่องจากเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้สะดวก รวดเร็ว ประกอบกับการที่ไม่สามารถออกไปจับจ่ายซื้อของสินค้าได้ตามปกติ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการระบาดไปทั่วโลก ทำให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพในตลาดการเงินทั่วโลกรวมทั้งไทย และผลกระทบของการระบาดต่อผลทางเศรษฐกิจภาพรวม และราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี เนื่องจากผลของการระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่ออุปสงค์การใช้น้ำมันที่ลดลงทั่วโลกประกอบกับสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิระเบีย รัสเซียและสหรัฐ ในช่วงต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา อาจให้เกิดผลดีต่อต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศลดต่ำลง

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ เช่น ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตทั่วโลก มีผลต่อการส่งออกการแพร่ะบาดของไวรัสโควิด-19 หลายประเทศเริ่มมาตรการห้ามการเข้า-ออก การเดินทางหรือล็อกดาวน์ กระทบต่อภาคการผลิตในประเทศรายได้ของประชาชนที่ลดลง ลดการจ้างงาน ปิดกิจการชั่วคราวและถาวร ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเทศรวมถึงไทย ระบบโลจิสติกส์ที่มีปัญหาทั่วโลก ทั้งทางเรือ ทางอากาศ และทางถนน

น.ส.กัณญภัค กล่าวอีกว่า สรท.มีข้อเสนอแนะต่อรภาครัฐ ได้แก่ 1. สรท. ได้จัดทำข้อเสนอแนะรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อภาคการส่งออกไทย เพื่อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยข้อเสนอแนะที่จัดทำขึ้นได้พิจารณาทั้งในส่วนของระดับความสำคัญ (สูง/กลาง/ต่ำ) ระยะเวลาการใช้มาตรการที่รองรับทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ครอบคลุมด้านการเงิน ด้านแรงงาน ด้านการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้า ด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ด้านการตลาด เป็นต้น อีกทั้ง สรท.ได้ทำการเปรียบเทียบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง หากแต่หลายมาตรการที่ออกมานั้นยังเพียงพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการส่งออกและผู้ผลิตยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ในช่วงระยะสั้นและอาจกระทบต่อเนื่องเป็นระยะยาวจนอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ

2. ขอให้ภาครัฐมีความชัดเจนในเรื่องของวิธีการดำเนินงานของภาคการส่งออก นำเข้า โรงงานการผลิตและระบบโลจิกสติกส์ หากจำเป็นมีการประกาศเคอร์ฟิวยกระดับเป็น 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ เนื่องจากโรงงานและระบบโลจิสติกส์เพื่อการส่งออกนำเข้าไม่สามารถหยุดการดำเนินกิจกรรมการทางการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศได้ มิเช่นนั้นแล้วอาจทำให้เครื่องจักรตัวสุดท้ายของระบบเศรษฐกิจพัง

3. เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศ ทั้งทางบก ทางราง ทางเรือ และทางอากาศ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจในประเทศสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น

ด้านนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสรท. กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ทางสรท. ได้นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้วและมองว่าการช่วยเหลือต่างๆ ยังไม่เพียงพอกับผลกระทบที่ภาคเอกชนได้รับซึ่งหากมองเป็นเม็ดเงินรัฐบาลไทยช่วยเหลือเพียง 1.2% ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขณะที่จีน 7% สหรัฐอเมริกา 10% อังกฤษ 20% ทำให้เอกชนต้องช่วยเหลือตัวเองอย่างหนักในการประคับประคองเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงการระบาดของไวรัสนี้ จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งและเพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อนที่จะล้มหายตายจากไปเพราะไม่สามารถฟื้นตัวได้จากผลกระทบของโควิด-19