ศบค.เผย ‘โควิด-19’ คร่าอีก 1 ราย ป่วยเพิ่ม 38 ราย รักษาหายสะสม 824 ราย

โฆษก ศบค.เผย ‘โควิด-19’ คร่าอีก 1 ราย ป่วยเพิ่ม 38 ราย รักษาหายสะสม 824 ราย

โควิด-19 เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยพบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย สะสม 27 ราย รักษาหายเพิ่ม 31 ราย สะสมที่ 824 ราย อยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) 1,408 ราย และพบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มใหม่ 38 ราย ใน 66 จังหวัด นับเป็นรายที่ 2,221-2,258 ราย

“อย่างไรก็ตาม จะต้องหาเหตุผลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีมา และมีการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 26 มีนาคมเป็นต้นมา การพบยอดผู้ป่วยยังทรงตัว แต่ชัดเจนเมื่อมีการประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 3 เมษายน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่ 27 เป็นผู้ป่วยชาวไทย อายุ 54 ปี ไม่มีโรคประจำตัว มีประวัติความเสี่ยงคือร่วมงานสังสรรค์ในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม เริ่มมีอาการป่วยด้วยอาการเหนื่อยและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) เอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม มีอาการเหนื่อยเพิ่มมากขึ้น ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและภายหลังมีการตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ร่วมกับผลเอกซเรย์พบว่ามีปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 เมษายน ด้วยอาการของระบบทางเดินหายใจล้มเหลว

“จะพบได้ว่าผู้เสียชีวิตอายุไม่ได้มาก อย่างเช่นผู้เสียชีวิตที่แถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน มีอายุเพียง 28 ปี ดังนั้น ที่กล่าวว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยง ขณะนี้ทุกคนเป็นกลุ่มเสี่ยง และทุกคนจะต้องดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้ดี” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงจำนวนผู้ป่วยยืนยันใหม่ 38 ราย ว่า ในจำนวนนี้พบในกรุงเทพมหานคร 25 ราย ชลบุรี 4 ราย ภูเก็ต 3 ราย และ กระบี่ ชุมพร นครราชสีมา นนทบุรี พิษณุโลก และสุพรรณบุรี จังหวัดละ 1 ราย แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันเดิมและเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 17 ราย ได้แก่
1.เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ กระจายหลายจังหวัด 17 ราย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ มีจำนวน 16 ราย ได้แก่
1.คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 3 ราย
2.ผู้ที่ไปในสถานที่ชุมชน/ชุมนุม เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว จำนวน 3 ราย
3.ผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่แออัดที่จะต้องใกล้ชิดกับคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ แบ่งเป็น ผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติใน กทม. 2 ราย ชลบุรีและกระบี่จังหวัดละ 1 ราย ชาวต่างชาติทำอาชีพเสี่ยงในภูเก็ต 3 ราย รวม 7 ราย
4.บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 3 ราย รวมมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสะสม 53 ราย

กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยกลุ่มที่ยืนยันทางห้องปฏิบัติการแล้วแต่ต้องรอการสอบสวนโรคและประวัติเสี่ยงเพิ่มเติมจำนวน 5 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กรณีบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง จ.ภูเก็ต ที่รอการสอบสวนโรคจำนวนกว่า 100 ราย ยังไม่มีการส่งผลมาอย่างเป็นทางการ แต่จะมีการนำเข้าระบบภายหลังเพื่อติดตามต่อไป