แพทย์เผยผลศึกษา 80% ของผู้ป่วย “โควิด-19” เชื้อไม่ลงปอด อาการไม่รุนแรง

แพทย์เผยผลศึกษา 80% ของผู้ป่วย “โควิด-19” เชื้อไม่ลงปอด อาการไม่รุนแรง

โควิด-19 เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยระหว่างแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตระยะนี้พบอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 มีระยะการรักษาที่สั้นลง ทั้งในกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มที่เป็นผู้สูงอายุ ว่า เนื่องจากโดยทั่วไปของการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีอาการค่อนเป็นค่อยไป คือช่วง 5 วันแรกจะพบอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ และจะพบอาการปอดอักเสบเมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปแล้วประมาณ 5-10 วัน และเมื่อมีอาการปอดอักเสบรุนแรงขึ้น จึงทำให้ผู้ป่วยอาการหนักขึ้น ดังนั้น หากผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล (รพ.) ในเวลาที่รวดเร็ว มักจะไม่มีปัญหา เนื่องจากสามารถรักษาด้วยยาได้ในช่วงที่อาการยังไม่วิกฤต ทั้งนี้ยาช่วยให้ผู้ป่วยชะลอการเข้าสู่ภาวะวิกฤตได้

นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากช่วงแรกของการป่วยมักจะมีอาการไม่รุนแรงมาก และการพบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในอาการวิกฤตนั้น ประเทศไทยยังพบน้อยมาก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเข้ามาในช่วงที่ยังดูแลรักษาได้ แต่ทั้งนี้ การให้ยาอย่างเต็มที่แล้วก็ไม่สามารถยื้อชีวิตของผู้ป่วยที่เสียชีวิตได้เช่นกัน แสดงให้เห็นว่า โรคนี้หากมีอาการรุนแรง ก็จะรุนแรงมาก แม้ว่าจะรักษาอย่างเต็มที่แล้วก็ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ แต่สัดส่วนที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ยังพบน้อยมาก

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการรายงานทางการแพทย์ชัดเจนว่า แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ แต่จะมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีอาการเด่นที่เกิดขึ้นในระบบประสาท ซึ่งพบได้ แต่ยังพบได้น้อยมาก รวมถึงสาเหตุหรือปัจจัยอื่นที่ทำให้ผู้ป่วยแต่ละรายอยู่ในระหว่างการรักษาที่ใช้เวลาไม่เท่ากัน

“เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ผู้ที่แข็งแรงเท่ากัน 2 คน แต่พบว่าคนหนึ่งมีอาการน้อยมาก แต่อีกคนมีอาการรุนแรง และมีเชื้ออยู่ในร่างกายค่อนข้างนาน ซึ่งต้องศึกษาและค้นหาคำตอบต่อไป และหากทราบข้อมูลเหล่านี้จะทำให้การรักษาและแนวทางปฏิบัติมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ปัจจัยในการรับเชื้อที่มีปริมาณมากในร่างกาย ส่งผลให้มีการรักษาที่ยากกว่านั้น สำหรับโรคอื่นจะมีลักษณะเช่นนี้คือ หากรับเชื้อมาก ก็จะมีอาการรุนแรงของโรคได้ แต่สำหรับโรคโควิด-19 ยังไม่สามารถยืนยันข้อสังเกตนี้ได้ โดยในระยะแรกของการติดเชื้อจะอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน บริเวณลำคอ ร้อยละ 80 จะไม่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง หรือติดเชื้อที่ปอด จึงเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการน้อย แต่มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีการติดเชื้อเข้าสู่ปอด ก็จะเป็นผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง