ตลาดเกิดใหม่ระส่ำ “เงินไหลออก” แสนล้าน ในช่วง 70 วัน IMF เตรียมเข้าอุ้ม

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก และการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ ซึ่งสร้างความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน เป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง

แม้สถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ประเทศตลาดเกิดใหม่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด “แบรี่ ไอเชงรีน” นักเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ชี้ว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่น่าเป็นห่วงอย่างมากจากผลกระทบ เช่น การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างน้ำมัน และการส่งออกหยุดชะงัก ซึ่งประเทศตลาดเกิดใหม่จำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยเหล่านี้

และอีกความท้าทายสำคัญคือ การไหลออกนอกประเทศของเงินทุนต่างชาติ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก ระบุว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่มีความเชื่อมโยงกับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นกว่าเมื่อช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 ดังนั้น หากสถานการณ์ระบาดลากยาวไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2020 เงินทุนไหลออกอาจรุนแรงมากขึ้น

บลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงข้อมูลจาก สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) เปิดเผยว่า ในช่วง 70 วัน นับตั้งแต่ 21 ม.ค.ปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรงทั่วโลก นักลงทุนต่างชาติหอบเงินออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวม 92,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2008 มีเงินทุนไหลออกเพียง 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

“โจนาธาน ฟอร์จูน” นักเศรษฐศาสตร์ของไอไอเอฟ ระบุว่า “ถึงแม้ว่าวิกฤตการเงินปี 2008 จะมีผลกระทบยาวนานและรุนแรงกว่าวิกฤตไวรัส แต่การไหลออกของเงินทุนต่างชาติในประเทศตลาดเกิดใหม่มีความรุนแรงที่น้อยกว่าปัจจุบันมาก”

นอกจากนี้ นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางหลายแห่ง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ลดลงเป็นอย่างมาก รายงานระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปีค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่อย่าง บราซิล เม็กซิโก แอฟริกาใต้ และรัสเซีย อ่อนค่าลงมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ไอไอเอฟประเมินว่า บริษัทในประเทศตลาดเกิดใหม่มีหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐราว 13% ของหนี้สินทั้งหมด ซึ่งการที่เงินอ่อนค่าลงย่อมทำให้มูลหนี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยังจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามทิศทางของธนาคารกลางหลัก ๆ ของโลก ส่งผลให้หลายประเทศมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลออกมากขึ้น

ทั้งนี้ การไหลออกของเงินทุน ค่าเงินที่อ่อนค่าลง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา “มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส” ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลแอฟริกาใต้และเม็กซิโก ขณะที่ประเทศอื่น ก็เสี่ยงถูกปรับลดเครดิตเช่นกัน

โดย “เจมส์ แมคคอร์แมก” หัวหน้าฝ่ายจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับประเทศของ “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ระบุว่า “บริษัทเตรียมประเมินอันดับเครดิตของรัฐบาลทั่วโลก ซึ่งคาดว่าบางประเทศอาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง”

ซึ่งการถูกลดเครดิตจะสร้างความลำบากในการจัดหาทุนเพื่ออัดฉีดเม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดียวที่ยังคงเหลืออยู่

อีกทั้งประเทศตลาดเกิดใหม่ยังมีกระสุนของนโยบายทางการคลังที่ค่อนข้างจำกัดด้วยเหตุผลต่าง ๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะปัญหา “หนี้สาธารณะ” ในหลายประเทศ ดังนั้น ความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” (ไอเอ็มเอฟ) จึงจำเป็นอย่างมาก เพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19