นักวิชาการค้านตั้งอาชีวะภูมิภาค เพิ่ม’งบ-ตำแหน่ง’ แต่วิทยาลัยไร้อิสระ ชี้ ‘ผู้เรียน-การศึกษา’ ไม่ได้ประโยชน์

นักวิชาการค้านตั้งอาชีวะภูมิภาค เพิ่ม’งบ-ตำแหน่ง’ แต่วิทยาลัยไร้อิสระ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เสนอที่ประชุมคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาจัดตั้งอาชีวศึกษาในระดับภูมิภาค เนื่องจากเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ไม่สามารถดูแลวิทยาลัยที่มีกว่า 400 แห่งได้อย่างทั่วถึง และเพื่อรองรับการเรียนอาชีวะที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะทำหน้าที่คล้ายสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ว่า ไม่เห็นด้วยกับการตั้งอาชีวะในระดับภูมิภาค เพราะรูปแบบการศึกษาของอาชีวะ จะคล้ายกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ไม่ใช่เป็นการศึกษาในระดับโรงเรียน ที่จะต้องมีสายบังคับบัญชาหลายชั้น และที่ผ่านมายังไม่มีงานวิจัย หรือข่าวจากผู้ปฏิบัติ ที่ออกมาระบุว่าจำเป็นต้องมีอาชีวะในระดับภูมิภาคขึ้นมา

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า ขอถามว่าทำไมถึงต้องจัดตั้งอาชีวะในระดับภูมิภาคขึ้น และมีหลักคิดอะไรที่มารองรับ ที่ผ่านมา ศธ.เคยเรียนรู้จากการตั้งศึกษาธิการภาค (ศธภ.) หรือไม่ ว่าตั้งมาแล้วเกิดประโยชน์อย่างไร ทั้งนี้ ศธ.มีหน่วยงานระดับภูมิภาคจำนวนมาก เช่น ศธภ., ผู้ตรวจราชการ ศธ.เป็นต้น ซึ่งลักษณะงานของหน่วยงานเหล่านี้ สามารถจัดการให้อยู่ในหน่วยเดียวกันได้ เพราะถืออยู่ในระดับนโยบายทั้งหมด เช่นเดียวกับ สอศ.ทำไมไม่สามารถดำเนินการให้นโยบายของอาชีวะลงไปอยู่ในสถานศึกษาโดยตรงได้ และทำไมต้องส่งต่อนโยบายจากส่วนกลางไปยังระดับภูมิภาค ก่อนที่จะลงไปที่สถานศึกษาด้วย นอกจากนี้ พบว่าการส่งต่อนโยบายจากส่วนกลางลงไปยังภาคปฏิบัติ มีปัญหาเรื่องการตีความ เพราะผู้ปฏิบัติบางคนตีความนโยบายตามความเข้าใจของตน ทำให้การปฏิบัติงานเกิดปัญหา

“ส่วนจะเพิ่มบุคลากรขึ้นมาหรือไม่ มองว่าต้องเพิ่มเเน่นอน ผมมองว่าผู้บริหารในระดับรองเลขาธิการ กอศ.มีไม่เพียงพอหรือ ที่จะแบ่งดูแลวิทยาลัยทั้งหมด และถ้าตั้งอาชีวะในระดับภูมิภาคขึ้นมา อาจจะมีข้าราชการระดับบริหารเพิ่มขึ้นมาอย่างน้อย 6 คน โดยแบ่งไปตามภาคต่างๆ ทั้งนี้ การตั้งหน่วยงานในระดับภูมิภาค ควรพิจารณาให้ดี และรอบคอบกว่านี้ และการศึกษาในระดับอาชีวะเป็นการศึกษาที่มีลักษณะคล้ายกับอุดมศึกษา ที่จะดำเนินการได้อย่างอิสระ สามารถตัดสินใจได้ในระดับหนึ่ง การรับนโยบายมาปฏิบัติ ไม่ใช่ปัญหาของสถานศึกษา แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวนโยบาย ที่ไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย เปลี่ยนไปบ่อยต่างหาก ดังนั้น ขอให้คำนึงถึงของความเป็นอิสระ และการกระจายอำนาจ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมสถานศึกษา มากกว่าตั้งอาชีวะในระดับภูมิภาค” นายสมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เมื่อจัดตั้งอาชีวะในระดับภูมิภาคขึ้นมา อำนาจจากส่วนกลางจะถูกกระจายอยู่ในระดับภูมิภาค แต่ไม่ถูกกระจายไปที่สถานศึกษา แล้วจะเกิดประโยชน์อะไรกับการศึกษา และเกิดประโยชน์กับผู้เรียนอย่างไร ตนมองว่าหากตั้งอาชีวะในระดับภูมิภาคขึ้น จะเป็นภาระของงบประมาณ เพราะจะต้องนำเงินส่วนใหญ่ไปจ่ายค่าตำแหน่ง วิทยาฐานะ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีผลทำให้ผู้เรียนอาชีวะดีขึ้นอย่างไร