ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. แนะรัฐต้องเทหมดหน้าตัก ใช้ยาแรงบาซูก้า 2 ล้านล้าน กระตุ้นอัดฉีดทั้งระบบ แก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19

ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. แนะรัฐต้องเทหมดหน้าตัก ใช้ยาแรงบาซูก้า 2 ล้านล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ อัดฉีดทั้งระบบ แก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันแถลงข่าวเสนอมาตรการให้รัฐใช้ยาแรงบาซูก้าทางการเงินการคลัง ใช้งบ 2 ล้านล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดเป็น 12% ของ GDP ช่วยทุกภาคส่วน โดยเฉพาะท่องเที่ยว เกษตร กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs รับมือวิกฤตโควิด-19 และแนวทางการเยียวยาคนทุกกลุ่ม ให้ปรับตัวเตรียมความพร้อมให้มีรายได้ อยู่รอด ท่ามกลางวิกฤต

นายปริญญ์ กล่าวว่าจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันที่ได้ลุกลามไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ถือเป็นวิกฤตทางด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อวิกฤตเศรษฐกิจ ที่รุนแรงกว่าแฮมเบอร์เกอร์ หรือต้มยำกุ้งในอดีต หากไม่เร่งแก้ปัญหาจะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ มาตรการของภาครัฐที่ออกมาในปัจจุบันสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มากพอและไม่ทั่วถึง จึงจำเป็นต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมและมากพอ การแจกเงินกับกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ 5,000 บาท จึงไม่ครอบคลุมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบในทุกภาคส่วน จึงมีข้อเสนอดังนี้ บาซูก้าทางการคลัง ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประสบปัญหาอย่างหนัก สัดส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลง เหลือเพียง 0-5% ในโรงแรมหลายแห่งมีรายได้เป็นศูนย์ แต่พนักงานและผู้ประกอบการกลับไม่ได้รับการเยียวยา เพราะในระบบประกันสังคมจะช่วยเหลือได้ต่อเมื่อรัฐสั่งปิดกิจการ ส่วนภาคเกษตร
ในปัจจุบันสินค้าเกษตรบางชนิดประสบปัญหาผลผลิตลดลงเกือบ 50% สินค้าเกษตรโลกราคาตกต่ำ แต่เกษตรกรยังไม่ได้รับการเยียวยา รัฐได้เตรียมจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับปัญหาภัยแล้ง ถ้าจะรอใช้งบประมาณจากภัยแล้งมาช่วยแก้ปัญหา อาจจะไม่รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ที่เกษตรกรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดเช่นเดียวกันกับภาคส่วนอื่น รัฐจึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณมาช่วยทั้งในส่วนของการหาตลาด เสริมทักษะการขายผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างรายได้ในภาวะสินค้าราคาตกต่ำกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รัฐต้องทำงานเชิงรุก เพื่อช่วยอุดหนุนให้ผู้ประกอบการไปต่อได้ นำแพลทฟอร์มทางออนไลน์เข้ามาช่วยปรับใช้ในยุค Digital Transformation เสริมทักษะ สมรรถนะ ให้แข็งแกร่งขึ้น รวมถึงการช่วยเหลือในการหาตลาด การทำหลักสูตรออนไลน์ช่วยสอนผู้ประกอบการให้องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่พนักงานหลายคนต้องหยุดอยู่ที่บ้าน รัฐควรสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเหล่านี้ได้ใช้โอกาสในการเสริมทักษะและสมรรถนะผ่านการเรียนรู้ออนไลน์

นายปริญญ์ กล่าวต่อว่า บาซูก้าทางการเงิน
ถือเป็นความรับผิดชอบของภาคเอกชนในการสนับสนุนภาครัฐในการแก้ไขปัญหาในยามที่มีวิกฤตร่วมกัน โดยมีข้อเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เข้ามาให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการรายย่อยประสบปัญหาเรื่องของกระแสเงินสด ไม่ใช่แค่การพักหนี้เท่านั้น แต่ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้แบบเชิงรุก หยุดชำระดอกเบี้ยเงินกู้ เพราะผู้ประกอบการขาดกระแสเงินสด หากไม่มีการหยุดชำระดอก ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้อาจจะทำให้มีภาวะหนี้เสีย มีเอ็นพีแอลพุ่ง ส่วนมาตรการอุดหนุนทางด้านสาธารณสุข
รัฐควรจัดสรรงบประมาณมาช่วยดูแลให้ครอบคลุมทางด้านสาธารณสุข ทั้งการจัดงบประมาณเพื่อใช้ในการตรวจเพื่อคัดกรองโรค จัดให้มีชุดตรวจคัดกรองโรค (Rapid Test Kit) ให้มีปริมาณเพียงพอกับกลุ่มผู้มีโอกาสเสี่ยง การจัดให้มีงบประมาณสำหรับประกันสุขภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล จัดซื้อเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้พอเพียงต่อการใช้งานลดความเสี่ยง สร้างขวัญและกำลังใจ การจัดสรรพื้นที่ในการรองรับกลุ่มเสี่ยง ผู้ติดเชื้อ ที่เพียงพอในการกักตัว ที่สำคัญรัฐต้องจัดสรรงบมาดูแลทางด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อหาวัคซีนที่จะใช้ในการรักษา เพื่อหยุดโรคนี้อย่างจริงจัง โดยไม่ต้องรอจากต่างประเทศ เพียงอย่างเดียว

“รอบนี้ ต้องใช้คำว่า รัฐต้องเทหมดหน้าตัก ระดมสรรพกำลังต่าง ๆ มาช่วยแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่และจริงจัง อย่าเหนียม โยกงบที่ไม่จำเป็นมาใช้เพื่อแก้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น ก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามจนยากเกินแก้ไข” นายปริญญ์กล่าว