ตร.เผยยังพบปชช.ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยันคนนนท์ทำงานกทม. ก็ต้องทำตามเคอร์ฟิว

“โฆษกตร.เผยยังพบปชช.ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ยันจำเป็นต้องใช้มาตรการกฎหมายเด็ดขาด-เคร่งครัด ยกกรณีมั่วสุม ตั้งวงสังสรรค์ กระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท

เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงว่า จากการปฏิบัติตลอดระยะเวลา 4-5 วันที่ผ่านมา มีประชาชนบางส่วนที่ยังฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือประกาศหรือข้อกฎหมายต่างๆ ทั้งๆ ที่ท่านนายกรัฐมนตรี บุคลากรทางการแพทย์ และพวกเราทุกคนทำงานกันอย่างหนัก ทั้งนี้ มีตัวอย่างที่ผิดกฎหมายและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ทหาร จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มีหลายกรณีที่เป็นขอความร่วมมือ แต่ก็ยังมีการฝ่าฝืน เช่น การมั่วสุม ตั้งวงเอาสนุกสนาน ลักษณะเช่นนี้ถือว่ากระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ทั้งผิด พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อของแต่ละจังหวัดที่ประกาศไว้ ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะเดียวกัน กรณีกักตุนสินค้าหรือขายหน้ากากอนามัย เวชภัณฑ์อื่นๆ ในราคาเกินควร ยังมีมิจฉาชีพบางส่วนร่วมมือกับชาวต่างชาติกักตุนแอลกอฮอล์ เมื่อวานนี้มีการจับกุมในท้องที่ กทม.ถือว่าเป็นความผิดรุนแรง โดยท่าน ผบ.ตร.ได้สั่งการไปยังพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และเสนอให้ริบของกลางด้วย

พล.ต.ท.ปิยะกล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่เราเป็นห่วงกันคือเรื่องของกรณีกระทำการที่เล็กน้อยแต่สร้างความตื่นตระหนก ที่ผ่านมาเคยมีบุคคลเอาน้ำลายไปป้ายตามสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งศาลลงโทษจำคุก 15 วัน และนอกจากไปนั่งกินเหล้าแล้วยังมีแอบเล่นการพนัน ซึ่งมีความผิดตามพ.ร.บ.การพนัน ผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯผิดพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อด้วย  มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับอีกเป็นแสน ดังนั้นประชาชนอย่าฝ่าฝืนดีกว่า หลักการที่ท่านนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงและกำชับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชน เราจะใช้มาตรการกฎหมายอย่างเข้มข้นและเร่งด่วน โดยผบ.ตร.ได้กำชับตำรวจทุกฝ่ายต้องรีบดำเนินคดี และรวบรวมพยานหลักฐานไปถึงต้นตอและเสนอสั่งฟ้องทุกข้อหา และให้ลงโทษสถานหนักไม่ต้องรอลงอาญาและถ้าหากมีของกลางต้องริบด้วย ขอประชาชนอยู่บ้าน รักษาระยะห่าง ออกจากบ้านใส่หน้ากาก ออกเท่าที่จำเป็น

“หลายจังหวัดมีการขอความร่วมมือห้ามประชาชนออกนอกบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลา 22.00-05.00 น. ซึ่งใม่ใช่วิธีการทำงานตามปกติ ออกเฉพาะกรณีเป็นคนขนส่ง สินค้าอุปโภคบริโภค ยาและเวชภัณฑ์หรืออื่นๆที่จำเป็น ถ้าเป็นธุระอื่นอย่าดีกว่า เพราะจะผิดกฎหมายอย่างอื่นได้ เตือนไว้ก่อนเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้มงวดอย่างเต็มที่ เพื่อบ้านเมืองของเราต้องช่วยกัน”

เมื่อถามว่า จังหวัดนนทบุรีมีการขอความร่วมมือประชาชนห้ามออกนอกเคหสถาน หากต้องมาทำงานที่ กทม.มีความกังวลว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร พล.ต.ท.ปิยะกล่าวว่า ขอแยกเป็น 2 กรณี ยกตัวอย่าง นนทบุรี ประกาศขอความร่วมมือไม่ควรออกนอกบ้านเวลา 23.00-05.00 น. เพราะฉะนั้นประชาชนที่อยู่ปริมณฑลสามารถขับรถเข้ามาทำงานที่ กทม.ตามปกติ ซึ่งเวลาเวลา 23.00-05.00 น.  ดังกล่าวคงไม่มีบริษัทใดเปิด ส่วนราชการก็ไม่เปิด เพราะฉะนั้นประชาชนจะเดินทางต้องจำเป็น อีกกรณี คือ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งประกาศตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 35 ดังนั้นควรออกเท่าที่จำเป็น

เมื่อถามว่า แต่ละจังหวัดมีมาตรการที่แตกต่างกัน ทางตำรวจจะมีการพูดคุยกับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน พล.ต.ท.ปิยะกล่าวว่า ทางนายกรัฐมนตรีได้กำชับมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทุกส่วน โดยด่านตรวจคัดกรองจะมี  2 ลักษณะ โดยลักษณะที่หนึ่งคือด่านคัดกรองคน ซึ่งมีอยู่ 409 แห่ง เน้นการข้ามระหว่างจังหวัด ส่วนข้อห้ามในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เราเรียกว่าด่านเคลื่อนที่หรือจุดเคลื่อนที่เร็ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปกครอง ทหารจะหมุนเวียนกันคอยแนะนำประชาชน ยกเว้นว่าเตือนแล้วไม่เชื่อฟังต้องดำเนินคดี เมื่อเจอเจ้าหน้าที่รับฟังคำแนะนำและปฏิบัติตาม