“โควิด-19” กลายพันธุ์ 8 สายพันธุ์กำลังระบาดทั่วโลก

ภาพ National Institutes of Health/AFP

นักวิจัยในห้องปฏิบัติการทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย กำลังขะมักเขม้นจำแนกพันธุกรรมของไวรัส “ซาร์ส-โคฟ-2” ซึ่งก่อให้เกิดโรคระบาดร้ายแรง “โควิด-19” แพร่กระจายออกไปทั่วโลกอยู่ในเวลานี้

การจำแนกพันธุกรรม จัดทำแผนภูมิพันธุกรรมของไวรัสก่อโรคโควิด-19 นี้ วัตถุประสงค์ก็เพื่อดูรายละเอียดปลีกย่อยในหน่วยพันธุกรรมเล็กจิ๋วของมัน

จากรายละเอียดทางพันธุกรรมเหล่านั้น ทำให้นักวิจัยสามารถรู้ได้หลากหลายอย่างมาก สามารถล่วงรู้ว่า เชื้อที่กำลังอาละวาดอยู่ในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากไหน เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอย่างที่เราเรียกว่า การ

กลายพันธุ์ขึ้นหรือไม่ และเมื่อกลายพันธุ์แล้วมันมีพฤติกรรมอย่างไร เป็นต้น

ตัวอย่างเช่นในกรณีของไทย ทีมวิจัยโดยพิไลลักษณ์และคณะ จำแนกพันธุกรรมแล้วพบว่า เชื้อที่ระบาดอยู่ในพื้นที่นนทบุรีของไทย เป็นเชื้อจากจีน และยังไม่มีการกลายพันธุ์ เป็นต้น

นักวิจัยหลายสิบหลายร้อยทีมคร่ำเคร่งในการทำงานแล้วส่งข้อมูลทั้งหมดไปรวมกันไว้ที่ “nextstrain.org” เว็บไซต์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ใช้รวบรวมข้อมูล ทำเส้นทางการแพร่ระบาด ติดตามการกลายพันธุ์แยกเป็นสายพันธุ์ย่อยต่างๆ สำหรับใช้เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์วิจัยของผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ต่อไป

ชาร์ลส์ ชิว ศาสตราจารย์วิชาการแพทย์และโรคติดต่อ จากสำนักการแพทย์ซานฟรานซิสโกในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นำข้อมูลที่รวมกันอยู่ในเว็บไซต์นี้มาวิเคราะห์ได้ข้อมูลเบื้องต้นที่น่าสนใจหลายประการ

อาทิ ในเวลานี้ ไวรัสก่อโรคโควิด-19 นี้ กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยแล้ว 8 สายพันธุ์ แพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่แตกต่างกันทั่วโลก และพบด้วยว่า การทิ้งระยะห่างจากกันระหว่างทำกิจกรรมทางสังคมหรือ

โซเชียลดิสแทนซิง มีศักยภาพในการยับยั้งการแพร่ระบาดได้จริง อย่างน้อยก็ในบางพื้นที่ซึ่งมีการตรวจสอบรายละเอียดที่น่าสนใจจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลครั้งนี้มีดังนี้

ภาพ Alexandre Hassanin

การกลายพันธุ์เป็น 8 สายพันธุ์

ซาร์ส-โคฟ-2 เป็นไวรัสโคโรนา ตระกูลเดียวกันกับไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่ (อินฟลูเอนซา), อีโบลา, ซาร์ส และเมอร์ส คุณสมบัติสำคัญของไวรัสตระกูลนี้ก็คือ กลายพันธุ์ได้ง่ายมาก เร็วและบ่อยมาก

ข้อมูลทางพันธุกรรมชี้ว่า มันเริ่มก่อให้เกิดอาการป่วยขึ้นในจีนในช่วงระหว่างกลางเดือนพฤศจิกายน-กลางเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา

พันธุกรรมของมันกำหนดอยู่ในสายพันธุกรรมที่เมื่อจำแนกออกมาแล้วพบว่ามีทั้งหมดราว 30,000 คู่ (เบสแพร์) ซึ่งน้อยมากหากเทียบพันธุกรรมทั้งหมดของมนุษย์ ซึ่งมีมากกว่า 3,000 ล้านเบสแพร์

นั่นหมายความว่า ไม่ถือเป็นเรื่องยากแต่อย่างใดที่จะสังเกตพบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในพันธุกรรมของไวรัสตัวนี้

ผลการวิจัยที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์ย่อยที่มีการกลายพันธุ์มากที่สุดนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงเพียง 11 เบสแพร์เท่านั้น

“ไวรัสนี้กลายพันธุ์ช้ามากจนทำให้แต่ละสายพันธุ์ย่อยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพื้นฐานแล้วยังเหมือนกันอยู่นั่นเอง” ศาสตราจารย์ชิวระบุ

ช้ามาก เมื่อเทียบกับ อินฟลูเอนซา เพราะกลายพันธุ์ช้ากว่าถึง 10 เท่า แต่เป็นการวิวัฒนาการในอัตราความเร็วในการกลายพันธุ์ระดับเดียวกันกับอีโบลา ซาร์ส และเมอร์ส

แต่ถึงจะช้าทีมวิจัยก็ยังพบว่า ในตอนนี้มีไวรัสซาร์ส-โคฟ-2 “อย่างน้อย” ถึง 8 สายพันธุ์ย่อย กระจายกันระบาดอยู่ใน 6 ทวีปทั่วโลก

8 สายพันธุ์ย่อยเหล่านั้นมีที่มาจากประเทศเพียง 36 ประเทศเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น สายพันธุ์ย่อยที่ระบาดอยู่ในรัฐวอชิงตัน และฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เป็นสายพันธุ์โดยตรงจากอู่ฮั่น ประเทศจีน มาถึงครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา

ในขณะที่ทางฝั่งตะวันออก ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในกรุงวอชิงตันดีซี นั้นมาจากจีน ข้ามไปยุโรป แล้วถึงมาลงเอยที่นิวยอร์ก ก่อนที่จะระบาดถึงกรุงวอชิงตันและที่อื่นๆ

ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า 8 สายพันธุ์ย่อยที่พบนี้อาจเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของความเป็นจริง สาเหตุเป็นเพราะมีการจำแนกพันธุกรรมตัวอย่างไวรัสเพียง 1,000 ตัวอย่างเท่านั้นเอง อาจมีอีกไม่น้อยที่หลุดลอดไป

(ภาพ Wildlife Alliance Flickr, CC BY 4.0)

เพราะในขณะนี้มีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันเกินกว่า 500,000 คนไปแล้ว

สายพันธุ์เดียวกันก่ออาการต่างกัน

ข้อสังเกตอีกอย่างของ ชาร์ลส์ ชิว ก็คือ ขณะที่ไวรัสโควิด-19 ในเวลานี้มีพื้นฐานทางพันธุกรรมแบบเดียวกัน แทบจะเหมือนกันทุกสายพันธุ์ย่อย แต่อาการของผู้ติดเชื้อแต่ละคนกลับแตกต่างกันออกไป และอัตราการตายในแต่ละประเทศก็ต่างกันออกไป

แต่ศาสตราจารย์ชิว ชี้ว่า ยังไม่พบแนวโน้มที่แสดงให้เห็นว่า ไวรัสต่างสายพันธุ์ เป็นตัวการทำให้เกิดความแตกต่างที่ว่านั้น แต่กรณีเหล่านั้นน่าจะเชื่อมโยงกับอัตราการตรวจหาเชื้อมากกว่าอย่างอื่น

นอกจากนั้น ยังตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า วิวัฒนาการในพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดต่อเนื่องกันนี้ ไม่น่าจะก่อให้เกิดรูปแบบของพันธุกรรมที่ร้ายแรงถึงตายมากกว่าเดิมแต่อย่างใด

คริสเตียน แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์ประจำสำนักวิจัยสคริปส์ ในแคลิฟอร์เนีย ชี้ให้เห็นว่า ไวรัสโควิด-19 มีขีดความสามารถสูงในการแพร่ระบาดจากคนไปสู่อีกคนอยู่แล้ว

มันเลยไม่มีแรงกดดันโดยธรรมชาติให้วิวัฒนาการผิดไปจากเดิมแต่อย่างใด

‘อยู่ห่างกัน’ยับยั้งการระบาดได้

ศาสตราจารย์ชิวพบว่า มาตรการเช่นการบังคับให้อยู่แต่ภายในบ้าน การบังคับโซเชียล ดิสแทนซิง มีผลในการยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสได้

ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ชิว ไปเก็บตัวอย่างเชื้อจากชุมชนต่างๆ ในซานฟรานซิสโก รวมทั้ง โซลาโนเคาน์ตี พบว่าสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ที่นั่น ใกล้เคียงกับสายพันธุ์ของจีนมากที่สุด นั่นอาจเกิดจากนักเดินทางคนใดคนหนึ่ง นำมันกลับมาจากจีนนั่นเอง

สายพันธุ์เดียวกันนั้น พบอีกแห่งที่เมืองซานตาคลารา ในซิลิกอนวัลเลย์ แล้วก็สิ้นสุดลงที่นั่น ไม่มีระบาดไปยังที่อื่นอีก หลังจากมีการ “ทำงานจากบ้าน” และ “โซเชียล ดิสแทนซิง” ตามการประกาศของรัฐแคลิฟอร์เนีย

การค้นพบการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 นี้ ทุกครั้ง เกิดจากการนำเอาแผนที่พันธุกรรมใหม่ๆ เหล่านั้นเปรียบเทียบกันเอง แล้วนำไปเปรียบเทียบกับ “พันธุกรรมอ้างอิง” ที่ได้จากการจำแนก

ของ ศาสตราจารย์ หยง เจิ้น จาง จากศูนย์สุขภาพเชิงคลินิกแห่งเซี่ยงไฮ้ ที่ทำไว้เมื่อ 10 มกราคม

ปัญหาในเวลานี้ก็คือ นักวิจัยภายนอกจีน ไม่มีทางรู้เลยว่า ไวรัสโควิด-19 ในจีนมีเพียงสายพันธุ์นั้นสายพันธุ์เดียวหรือไม่

หรือมีอีกหลายสายพันธุ์ย่อยในจีน

โควิด-19 ไม่ได้หลุดจากห้องแล็บ

ในขณะที่ยังไม่แน่ใจว่า ต้นตอของ 8 สายพันธุ์ย่อยในเวลานี้ เกิดจาก 1 สายพันธุ์หรือมากกว่านั้นในจีน แต่ศาสตราจารย์ชิวและศาสตราจารย์แอนเดอร์สัน แน่ใจได้ประการหนึ่งว่า ไวรัสโควิด-19 อุบัติขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากการพัฒนาในห้องปฏิบัติการแล้วหลุดลอดออกสู่ภายนอกแต่อย่างใด

โครงสร้างโมเลกุลของพันธุกรรมของ ซาร์ส-โคฟ-2 ที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของไวรัสตัวนี้ ใกล้เคียงมากกับโคโรนาไวรัสที่พบในค้างคาว

อีกส่วนหนึ่งของมันเหมือนกับจะจำลองมาจากไวรัสเดียวกันนี้ที่พบใน “แพงโกลิน” หรือตัวนิ่ม (ลิ่น)

นั่นไม่ใช่เส้นทางที่มนุษย์ ซึ่งเป็นนักพัฒนาไวรัสเพื่อใช้เป็นอาวุธพึงดำเนินการ เพราะซับซ้อนมากเกินไป และไม่มีอะไรการันตีว่าจะประสบผลสำเร็จ

ที่คนพวกนี้จะทำก็คือ ดิ่งไปหาตัวอย่างไวรัสที่พบว่าระบาดอยู่ในคนแล้วเท่านั้น

แอนเดอร์สัน ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยเรื่องนี้ตีพิมพ์ใน เจอร์นัล เนเจอร์ เมดิซีน ระบุว่า แม้แต่ในธรรมชาติ โอกาสที่จะได้ไวรัสลูกผสมออกมาแล้วร้ายกาจถึงเพียงนี้ ก็อาจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียวในรอบหลายร้อยหลายพันปีก็ว่าได้

ถือว่าเป็นเคราะห์หามยามร้ายของมนุษยชาติเท่านั้นเอง