‘วิโรจน์’ ชงวิธีคิดตัดลดงบประมาณใหม่ อะไรจำเป็นไม่ตัด อะไรไม่จำเป็นต้องตัดให้เหี้ยน

‘วิโรจน์’ แนะรัฐบาลใช้งบประมาณฐานศูนย์ ตัดส่วนไม่จำเป็นให้เหี้ยน ปี 2564 หวังเห็นการจัดงบความมั่นคงใหม่ เปลี่ยนความมั่นคงทางการทหารเป็นความมั่นคงทางสาธารณสุข เปลี่ยนอาวุธมาเป็นยารักษาโรค

เมื่อวันที่ 1 เมษายน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดสรรงบกลางของรัฐบาล ว่า เรื่องนี้เราต้องให้ความเป็นธรรมกับทางรัฐบาล งบกลางที่มีจำนวน 5.2 แสนล้านบาทนั้น ไม่ได้วางไว้ให้ใช้กับภารกิจฉุกเฉินหรือจำเป็นอย่างเดียว แต่ถูกจัดวางไว้ให้ใช้กับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญแก่ข้าราชการ ประมาณ 2.66 แสนล้าน ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ประมาณ 7.12 หมื่นล้าน เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 4.94 พันล้าน และอื่นๆ อีกประมาณ 6.3 หมื่นล้าน ส่วนงบประมาณที่นำมาใช้กับสถานการณ์วิกฤตฉุกเฉิน ที่อยู่ในงบกลางมีชื่อว่า เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มีอยู่ 9.6 หมื่นล้าน ซึ่งถือเป็นจำนวนไม่มาก ดังนั้นเวลาที่เราคิดถึงงบกลาง เราต้องคิดถึงจำนวน 9.6 หมื่นล้าน ไม่ใช่ 5.2 แสนล้าน จากการที่ตนได้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินของรัฐบาลพบว่า ถูกใช้ไปในมาตรการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้วประมาณ 9.4 หมื่นล้าน ดังนั้นการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีบอกว่า งบกลางจะหมดแล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่การใช้งบประมาณของรัฐบาลจะเป็นที่พอใจของประชาชนหรือเกิดประสิทธิผลหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

วันนี้เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลโอนงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นจากกระทรวงต่างๆ มาใช้ในการกู้วิกฤต ล่าสุดรัฐบาลแจ้งว่าจะตัดงบประมาณ 10% จากทุกระทรวง ซึ่งการโอนงบแบบนี้ถือว่าไม่ถูกหลักการ เพราะหากกระทรวงหรือหน่วยงานใดมีความจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ ก็จะไม่สามารถนำไปใช้ดำเนินการตามที่วางแผนได้ เราจึงแนะนำให้บริหารงบแบบ Zero-based budgeting (การตั้งงบประมาณฐานศูนย์) การโอนงบประมาณแบบ Zero-based budgeting คือการเรียกงบประมาณที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายมาทั้งหมด ทั้งงบลงทุน งบดำเนินงาน และงบร่ายจ่ายอื่น เช่น งบรายจ่ายที่ปรึกษา งบเดินทางไปราชการต่างประเทศ และงบจัดงานมหกรรม นิทรรศการ อบรม งานประชาสัมพันธ์ งบส่วนนี้เราเสนอให้ตัดทั้งก้อน ไม่จำเป็นต้องตัด 10% เพราะไม่สามารถนำงบมาใช้ได้อยู่แล้วในสถานการณ์เช่นนี้

งบส่วนที่ไม่ควรตัดแม้แต่บาทเดียวอย่างเช่น งบดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้พิการของกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ สรุปการตั้งงบประมาณฐานศูนย์ คือการนำงบประมาณที่เหลือยู่ทั้งหมด ลบด้วยรายจ่ายประจำ เช่นเงินเดือนข้าราชการ เงินบำเหน็จบำนาญ จากนั้นเหลือเท่าไหร่ก็มาพิจารณาทีละโครงการ หากไม่จำเป็นก็ตัดทั้งโครงการ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลควรทำ

“หากใช้มาตรฐานตัดงบ 10% เราก็จะตัดงบจากกระทรวงกลาโหมได้น้อย ซึ่งข้อมูลจากกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า อัตราการเบิกจ่ายของงบลงทุนของกระทรวงกลาโหมต่ำมาก และอยากให้ย้อนหลังไปดูงบ 2562 หากมีสัญญาการซื้ออาวุธใดๆ แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่ามีการทำสัญญาไปแล้ว ก็ต้องรื้อมาดู ตราบใดก็ตามที่ยังไม่มีการส่งมอบ ก็ควรจะไปเจรจาเพื่อลดออเดอร์ลง ขอแก้ไขสัญญาซื้อสินค้าชนิดอื่น หรือเลื่อนการซื้อขาย ดังนั้นหลักคิดในการโอนงบ 2563 คือ ใช้งบประมาณฐานศูนย์ คือ อะไรที่จำเป็นไม่ตัด แต่อะไรที่ไม่จำเป็นต้องตัดให้เหี้ยน โยกมาทั้งก้อน อย่ามาถือโอกาสใช้แนวคิดเท่าเทียม ตัด 10% เหมือนกันหมด” นายวิโรจน์ กล่าว

เมื่อถามว่า งบกลางในส่วนเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สามารถเพิ่มจำนวนได้หรือไม่ โฆษกพรรค ก.ก. กล่าวว่า สามารถทำได้ และควรเพิ่มเงินในส่วนนี้ด้วย ทั้งนี้ในปี 2564 หากรัฐบาลจะขอเพิ่มงบในส่วนนี้ ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเราไม่รู้ว่าใน 1 ปี เราจะเผชิญภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินเรื่องใด จึงต้องมีเงินส่วนนี้สำรองไว้ใช้จ่าย ซึ่งในวันนี้เราเห็นชัดเจนว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มจะลากยาว และส่งผลกระทบไปอีกหลายเดือน หรือเป็นปี รัฐบาลจึงมีภารกิจสำคัญ 3 ประการคือ การควบคุมการระบาด การยกระดับขีดความสามารถทางสาธารณสุข และการเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งนี้จากสถิติปี 2562 ที่ผ่านมาพบว่า ตัวเลขผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีทั้งหมด 3,084,290 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานรวม 13,950,241 คน หากคนเหล่านี้ไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ ก็จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน

นายวิโรจน์กล่าวว่า ดังนั้นสิ่งที่เราอยากเห็นในงบประมาณปี 2564 คือ การมีงบความมั่นคงใหม่ เปลี่ยนความมั่นคงทางการทหารมาเป็นความมั่นคงทางสาธารณสุข เปลี่ยนอาวุธมาเป็นยารักษาโรค วันนี้ไอเอสประกาศยุติการก่อการร้าย และขบวนการบีอาร์เอ็นประกาศยุติการยิง เพราะต่างฝ่ายก็ทราบอย่างชัดเจนแล้วว่า วันนี้ความมั่นคงที่ทุกคนต้องเผชิญคือความมั่นคงด้านสาธารณสุข ไม่ใช่ความมั่นคงด้านการทหารอีกต่อไป และไวรัสไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ไม่ว่าคุณจะมีชื่อเสียงหรือไม่ก็ตาม

นายวิโรจน์กล่าวถึงการทำงานของพรรค ก.ก. ว่า เรากำลังจะเสนอแนวทางการโอนงบประมาณ 2563 และการจัดสรรงบประมาณ 2564 ซึ่ง ส.ส.ที่อยู่ในกรรมาธิการงบประมาณ จะติดตามการทำงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด หากรัฐบาลยังใช้วิธีบวกๆ ลบๆ งบประมาณ 2563 ถือว่ารัฐบาลยังส่งการบ้านแบบเดิม ทั้งที่สถานการณ์ไม่เหมือนเดิม ดังนั้นหากยังไม่แก้ไข การพิจารณาในวาระ 1 คงโหวตให้ผ่านไม่ได้ โดยสิ่งที่เราอยากจะเตือนคือ กระทรวงกลาโหมเป็นกระทรวงที่มีสัดส่วนของงบผูกพันสูงมาก ในปี 2564 เราคาดหวังว่า จะไม่เห็นงบผูกพันใดๆ ของกระทรวงกลาโหม ยกเว้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นความตายและชีวิตของประชาชน เราไม่อยากเห็นงบการจัดซื้ออาวุธที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงไม่อยากเห็นงบอีเวนต์ สัมมนา นิทรรศการ อบรม การเดินทางไปต่างประเทศ เพราะสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ไม่จบในเร็วๆ นี้แน่