ธปท.รับศก.ไทยปีนี้ ดิ่งทุกไตรมาส แจก 5 พันก็ไม่ช่วย หวังปีหน้าฟื้นตัว

วันที่ 31 มีนาคม 2563 นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ -5.3% เป็นการหดตัวทุกไตรมาส โดย ธปท.คาดว่าเศรษึไทยจะหดตัวลึกที่สุดในไตรมาส 2/2563 เป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปมากที่สุดในไตรมาส 2 และไตรมาส 3-4/2563 จะเริ่มหดตัวน้อยลง

“หลังจากนี้ในสมมุติฐาน ยังมองว่าจะคุมสถานการณ์ได้ในช่วงไตรมาส 2 และจะเห็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในปี 2564 เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะเป็นบวก และหวังว่าจะค้นพบวัคซีน ทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจเป็นบวกได้”

ทั้งนี้ ประมาณการเศรษฐกิจ -5.3% ได้รวมปัจจัยบวกในเรื่องมาตรการแจกเงิน 5,000 บาทไปแล้ว แต่คิดจากฐานผู้ได้รับการช่วยเหลือ 3 ล้านราย ถ้ามากกว่านี้ก็มีผลต่อประมาณการเพิ่ม ส่วนปัจจัยเรื่องการพักหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ยังไม่ได้รวม ก็เชื่อว่าจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง และแม้จะรวม 2 ปัจจัยนี้ก็ยังชดเชยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ได้มากนัก

นายดอน กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชุดที่ 3 ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะใช้เม็ดเงินมากกว่า มาตรการชุดที่ 1-2 หรือมากกว่า 4 แสนล้านบาท คิดเป็น 2-3% ของจีดีพี ถ้ามีการออกมาตรการในเม็ดเงินระดับดังกล่าวจริง ก็จะช่วยการย่อตัวของเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ธปท. ไม่ได้กังวลในเรื่องทุนไหลออก เพราะขณะนี้ สถานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยแข็งแกร่ง ขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนลง แม้จะไม่ได้เพิ่มอุปสงค์ในต่างประเทศ แต่ก็ช่วยในเรื่องรายได้เกษตรกรแปลเป็นรูปเงินบาทดีขึ้น ส่วนตัวเลขการว่างงานยังไม่กังวล ขยายตัวเพิ่ม 0.1% แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ธปท.ติดตามอย่างใกล้ชิด

นอยดอน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนก.พ.2563 หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวสูง -42.8% นอกจากนี้ การส่งออกและการนำเข้าสินค้าได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการปิดเมืองของจีน โดยการส่งออกขยายตัว 3.6%

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง มีเพียงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้จากการเร่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวสอดคล้องกัน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อน จากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับสูงขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงมาก แม้รายรับจากภาคการท่องเที่ยวจะลดลง ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน