ผู้ตรวจ สธ.ภาคเหนือ ตรึงมาตรการเข้ม ลดความเสี่ยง ‘โควิด-19’ ถึงในเรือนจำ

 ผู้ตรวจ สธ.ภาคเหนือ ตรึงมาตรการเข้ม ลดความเสี่ยง “โควิด-19” ถึงในเรือนจำ

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวถึงกรณีของมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในภาคเหนือของประเทศไทย
นพ.ธงชัยกล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 1 มี 8 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่และน่าน ซึ่งในจำนวนนี้มี 2 จังหวัดที่ยังไม่พบผู้ป่วยคือ ลำปางและน่าน สถานการณ์การติดเชื้อที่ผ่านมาแบ่งเป็น 1.ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยเชียงใหม่จะเป็นพื้นที่มีชาวต่างประเทศสูงที่สุด 2.ผู้เดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ซึ่งส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับสนามมวยและสถานบันเทิง และได้ไปแพร่เชื้อต่อในสถานบันเทิงในเชียงใหม่ด้วย จึงทำให้มีการแพร่กระจายมากขึ้น จึงได้ดำเนินคัดกรองผู้เดินทางเข้าจังหวัดกว่า 20,000 รายมีชาวต่างชาว 2,000 ราย และมีผู้ที่อยู่ในการกักกันตนเอง 15,000 ราย และทั้งหมดนี้ได้รับการติดตามโดยอาศัยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่มหาดไทยและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการติดตาม ดูแลคัดกรองผู้เดินทางเข้าจังหวัด
นพ.ธงชัยกล่าวว่า ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากส่วนกลาง เช่น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 582,00 ชิ้น และได้กระจายไปใน 8 จังหวัด ผ่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) บริหารพื้นที่ แต่ยังไม่ข้อร้องเรียนคือชุดป้องกัน PPE และหน้ากาก N95 ซึ่งในพื้นที่อาจเกิดความกังวลเนื่องจากปริมาณที่มีสำรองอยู่อาจจะไม่ถึง 1 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม สธ.ได้มีการกระจายของต่างๆ ไปถึงพื้นที่อย่างแน่นอน
นพ.ธงชัยกล่าวว่า ในเขตสุขภาพที่ 1 มีหอผู้ป่วยหนัก 500 กว่าเตียง และมีการใช้ในผู้ป่วยทั่วไป และคาดว่าจะมีจำนวน 100 เตียง ในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 แต่หากมีจำนวนมากกว่านี้ก็สามารถขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ในแต่ละจังหวัดได้ ส่วนเครื่องช่วยหายใจมีประมาณ 1 พันเครื่อง และกำลังดำเนินการเช่าเพิ่มจากบริษัทอย่างน้อย 90 เครื่อง เพื่อเตรียมการล่วงหน้า ขณะนี้ตาม รพ.จะมีการปรับความเหมาะสม เช่น เชียงใหม่มีผู้ป่วยสูงโควิด-19 จึงได้เลือก 1 รพ.มาปรับเป็น รพ.สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ คือ รพ.สันกำแพง จำนวน 60 เตียง และนำผู้ป่วยเดิมไปอยู่ใน รพ.แม่ออน ซึ่งอยู่ใกล้กัน และ รพ.ประสาทเชียงใหม่ ซึ่งรองรับผู้ป่วยได้ 50 เตียง และจะปรับเพื่อรองรับผู้ป่วยวิกฤต 20 เตียง
นพ.ธงชัยกล่าวว่า พร้อมกันได้มีการเตรียมการบริการใน รพ.ให้มีคลินิกโรคไข้หวัด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อภายใน รพ. และหลังจากการปรับบริการมีผู้ป่วยเข้ารับบริการลดลงไปอย่างน้อย ร้อยละ 50 เนื่องจากผู้ป่วยที่มีกระบวนรับยาต่อเนื่อง จะมีการส่งยาไปที่บ้านโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมา รพ.เอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้รองรับผู้ป่วยส่วนอื่น และที่สำคัญคือ การคัดแยกนักโทษในเรือนจำ เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยง โดยจะคัดแยกนักโทษใหม่ 14 วัน และงดเยี่ยมในช่วงนี้ รวมถึงคัดกรองเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเพื่อลดความแออัด ลดการติดเชื้อเข้าไปในเรือนจำ เนื่องจากหากมีการติดเชื้อในเรือนจำ อาจเกิดผู้ป่วยหนักและจะเป็นภาระของ รพ.มากขึ้น