ปลัด สธ.แจงยิบแผนกระจาย “หน้ากากอนามัย” ให้บุคลากรแพทย์ทั่วปท.

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ทำเนียบรัฐบาล นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงถึงการจัดสรรทรัพยากรเพื่อใช้ในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า ยอมรับว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศโซนยุโรป ที่ไทยใช้เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าทางการแพทย์ก็เกิดปัญหาเช่นกัน จึงทำให้การเตรียมทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยลดลง ดังนั้นทาง สธ. กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทยได้มีการร่วมกันวางแผนเพื่อจัดเตรียมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ซึ่งผลิตในประเทศ 11 โรงงาน โดยเริ่มต้นมีการผลิตจำนวน 500,000 ชิ้นต่อวัน แต่ในขณะนี้มีกำลังการผลิต 1,300,000 ชิ้นต่อวัน โดยเมื่อวันที่ 7-28 มีนาคม สธ.ได้รับการจัดสรรหน้ากากอนามัยรวม 19.59 ล้านชิ้น ซึ่งแจกจ่าย 1.โรงพยาบาล (รพ.) สังกัดสำนักปลัด สธ. 10.35 ล้านชิ้น รพ.กรมอื่นๆ 0.56 ล้านชิ้น  2.รพ.นอกสังกัด สธ.เช่น สภากาชาดไทย 0.77 ล้านชิ้น 3.รพ.มหาวิทยาลัย โดยผ่านเครือข่าย รพ.กลุ่มสถาบัน แพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNeT) 2.48 ล้านชิ้น 4.รพ.เอกชน และคลินิกต่างๆ โดยผ่านสมาคมโรงพยาบาลเอกชน 4.28 ล้านชิ้น และ 5.รพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) 1.15 ล้านชิ้น

นพ.สุขุม กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น สธ.จึงมีแผนการกระจายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน ที่ได้รับการจัดสรรจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทย จะมีการกระจายทั่วประเทศ ผ่านการขนส่งระบบไปรษณีย์ไทย ดังนี้ 1.รพ.สังกัด สธ. 8 แสนชิ้นต่อวัน แบ่งเป็น รพ.สังกัดสำนักงานปลัด สธ. 6.5 แสนชิ้น เช่น รพ.จังหวัด รพ.ศูนย์ รพ.ชุมชน และ รพ.กรมอื่นๆ 1.5 แสนชิ้น เช่น รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตน์ สถาบันบำราศนราดูร เป็นต้น 2.รพ.นอกสังกัด สธ. 1 แสนชิ้นต่อวัน
3.รพ.มหาวิทยาลัย 1.5 แสนชิ้นต่อวัน 4.รพ.เอกชน 1.5 แสนชิ้นต่อวัน 5.รพ.สังกัด กทม. 1 แสนชิ้นต่อวัน

“จะกระจายไปถึง รพ.จังหวัดทุกแห่ง เพื่อกระจายต่อไปในจังหวัดนั้นๆ และจะมีการบันทึกรายละเอียดระบบบริหารงานระบบเติมยาและติดตามแบบเรียลไทม์” นพ.สุมขุม กล่าวและว่า สิ่งที่มีความกังวลว่า รพ.จะขาดแคลนหน้ากาก N95 ที่เป็นหน้ากากพิเศษ ใช้กับผู้ป่วยหนักในภาวะห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู รวมถึงผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

“สถานการณ์ในวันนี้ความจริง คือ เรา เคยซื้อหน้ากาก N95 จากบริษัท 3M ที่ผลิตมาจากอเมริกา เป็นการนำเข้า และหน้ากาก N95 ผลิตในประเทศไทยเพื่อการส่งออก โดยบริษัท สยามโคเค็นของญี่ปุ่น แต่ส่วนมากเราจะไม่ได้ซื้อจากของเขาเลย ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงจะต้องมีการดำเนินการจัดสรร เป็นโครงการเฉพาะสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการใช้โดยทั่วไปของ รพ. จึงต้องมีการหาเข้ามาเพิ่มเติม” นพ.สุขุม กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะต้องใช้หน้ากาก N95 จำนวน 15 ชิ้นต่อคน และผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคจะต้องใช้ 5 ชิ้นต่อวัน ซึ่งขณะนี้มีการกระจายไปแล้ว 183,910 ชิ้น ซึ่งกระจายตามยอดของผู้ป่วยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในแต่ละสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วยโรคปกติทั่วไป ได้แก่ 1.รพ.สังกัดสธ. แบ่งเป็น รพ.สังกัดสำนักงานปลัด 117,950 ชิ้น และ รพ.กรมอื่นๆ 43,210 ชิ้น 2.รพ.นอกสังกัด สธ. 3,230 ชิ้น 3. รพ.มหาวิทยาลัย 2,690 ชิ้น 4.รพ.เอกชน 14,410 ชิ้น 5.รพ.สังกัด กทม. 1,570 ชิ้น

นพ.สุขุม กล่าวว่า จากการคาดหากมีผู้ป่วย ยืนยัน 10,000 ราย ที่เป็นยอดสะสมใน 1 เดือน จะต้องใช้ หน้ากากN95 ทั้งหมด 500,000 ชิ้น หรือ 17,000 ชิ้นต่อวัน ซึ่งได้ติดต่อกับบริษัท 3M ในสหรัฐอเมริกา จำนวน 2 แสนชิ้น โดยมีกำหนดส่ง วันที่ 10 เมษายนนี้ แต่เป็นการทยอยได้รับในครั้งละหลักหมื่นชิ้น ส่วนในบริษัทสยามโคเค็น จากการเจรจาจะได้โควตาสั่งซื้อเดือนละ 100,000 ชิ้น สิ่งเหล่านี้หาไม่ได้ในสภาวะปกติ แต่เป็นการพยายามหาเพิ่มเติม

“โดยความพยายามของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อติดต่อกลับรัฐบาลจีนโดยตรง
ขอสนับสนุนหน้ากาก N95 โดยรัฐต่อรัฐ และงบประมาณให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จำนวน 1,500 ล้านบาท ในการสั่งซื้อ ซึ่งได้รับการตอบกลับว่าจะมีการขายให้เรา 1.3 ล้านชิ้น โดยการประชุมบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ในวันที่ 31 มีนาคมนี้ พร้อมนำเข้าทันที 400,000 ชิ้น และจะกระจายทั่วประเทศ แต่จะจ่ายให้กับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เท่านั้น แต่อาจจะต้องแบ่งบางส่วนให้แก่การดำเนินการปกติของ รพ.ทั่วไปด้วย เช่น รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.ศิริราช รพ.โรงเรียนแพทย์ หรือ รพ.ทั่วไปที่มีความจำเป็นต้องใช้” นพ.สุขุม กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวว่า ขณะนี้มีเตียงรองรับผู้ป่วย 1,600 เตียง ซึ่งในขณะนี้มีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 50 และยังมีรองรับเหลือ 700 เตียง ส่วนเรื่องของบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์จาก รัฐบาลจีน เช่น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์จำนวน 100,000 ชิ้น จัดสรรให้ รพ.ในต่างจังหวัด ชุดทดสอบหาสารพันธุกรรม จำนวน 20,000 ชิ้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการตรวจสอบและจะนำมาใช้ต่อไป หน้ากาก N95 จำนวน 10,000 ชิ้น และชุดป้องกัน PPE จำนวน 2,000 ชิ้น กระจายไปตามเขตสุขภาพในต่างจังหวัด โดยทรัพยากรอยู่ที่คลังกองบริหารสาธารณสุขสำนักงานปลัด สธ.คาดว่าจะจัดส่งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า มูลนิธิอาลีบาบา ได้มอบหน้ากากกันฝุ่น ซึ่งไม่ใช่หน้ากากกันเชื้อโรค จึงจะมอบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเน้นในทางจังหวัดภาคเหนือที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง ส่วนชุดป้องกันจำนวน 30,060 ชุด มีการกระจาย ไปยัง รพ.รามาธิบดี 360 ชุด รพ.ศิริราช 10,000 ชุด รพ.จุฬาฯ 10,000 ชุด ส่วนจังหวัดทางพรรคใต้ ซึ่งมีการระบาดรุนแรง ได้แก่ รพ.ยะลา 3,700 ชุด รพ.ปัตตานี 3,000 ชุดและ รพ.นราธิวาส 3,000 ชุด ซึ่งการกระจายจะจบสิ้นภายในสัปดาห์นี้ โดยใช้ระบบขนส่งของไปรษณีย์ไทย

นพ.สุขุม กล่าวว่า กรณียาต้านไวรัสฟาวิพิลาเวียร์ ได้รัยเพิ่มเติมมา 24,000 เม็ด และขณะยี้เหลือประมาณ 20,000 เม็ดกระจายทั่วประเทศ และเก็บที่ส่วนกลาง 2,000 เม็ด โดยในวันนี้เวลา 15.00 น. จะมีเข้ามาเพิ่มอีก 40,000 เม็ด จึงคาดว่าไม่มีการขาดยาในประเทศไทย แต่จะเลือกใช้กับผู้ป่วยที่เหมาะสม เช่น มีอาการปอดบวม และผู้ป่วยอาการน้อยร้อยละ 80 ไม่จำเป็นต้องใช้ยา