นักวิจัยจีนเลี้ยงไวรัสโคโรนา ใช้ค้นคว้าวัคซีนป้องกันโควิด-19

นักวิจัยเลี้ยงไวรัสโคโรนา ใช้ค้นคว้าวัคซีนป้องกันโควิด-19

วันที่ 29 มีนาคม 2563 สำนักข่าว ซินหัว รายงานความคืบหน้าการเพาะแยกไวรัส (isolation) กรณีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ของผู้เชี่ยวชาญชาวจีนที่ประสบความสำเร็จในก่อนหน้านี้ ว่านำไปสู่การสร้างแม่แบบที่มีประโยชน์ต่อการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

งานวิจัยนี้ นำโดยสถาบันชีววิทยาจุลินทรีย์ก่อโรค (Institute of Pathogen Biology) สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน มอบทรัพยากรที่สำคัญให้กับการวิจัยต่อยอดในอนาคต อันรวมถึงการตรวจคัดกรองยาและการประเมินผลวัคซีน

เริ่น ลี่ลี่ รองผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคของสถาบันกล่าวว่า ในการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยเพื่อให้ได้มาซึ่งไวรัสนั้น ไม่เพียงแต่จำเป็นต้องเพาะแยกเชื้อไวรัสเท่านั้น แต่ยังต้องช่วยให้เชื้อไวรัสสามารถเติบโตและแพร่พันธุ์ได้อย่างเสถียรด้วย “ดังนั้นเราจึงมีแนวโน้มที่จะใช้คำว่า ‘เลี้ยง‘ (taming) ไวรัสเอาไว้มากกว่าคำว่าเพาะแยก” นักวิจัยอธิบาย

เริ่นกล่าวว่า ตัวอย่างทางคลินิกของผู้ป่วยต้องสงสัยได้นำมาใช้ในหน่วยไมโครลิตร และทุกครั้งของการใช้งานมันจะไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก พร้อมระบุว่า “ถ้าไวรัสสามารถแพร่พันธุ์ (passage) ได้อย่างเสถียร หลังจากการเพาะแยก มันจะกลายเป็นเชื้อที่ ‘มีชีวิต‘ ซึ่งจะเป็นทรัพยากรการวิจัยที่ยั่งยืน และการวิจัยเพื่อติดตามผลจะเกิดขึ้นได้ด้วยการทำให้ไวรัสเติบโตและแพร่พันธุ์ในห้องปฏิบัติการ

ตัวอย่างที่เราได้มามักผ่านการถูกแช่แข็งและละลายมาแล้วหลายครั้ง ก่อนจะมาถึงห้องปฏิบัติการ จึงมีผลกระทบอย่างมากต่อความสมบูรณ์ของอนุภาคไวรัสและประสิทธิภาพของไวรัสในการบุกเข้าสู่เซลล์ และส่งผลกระทบต่อการเพาะแยกไวรัส” เริ่นระบุ