ไม่แนะนำ! สธ.ชี้ตรวจ “โควิด-19” ด้วยตัวเอง แปรผลไม่เป็น ความหมายผิดทันที

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัด สธ. กล่าวถึงกระแสสังคมที่จัดหาชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มาทำการตรวจหาเชื้อเอง ว่าไม่แนะนำ ทั้งนี้ เมื่อเชื้อไวรัส เรียกว่า แอนติเจน (Antigen) เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นจนถึงจุดหนึ่งร่างกายมนุษย์จะสร้างภูมิคุ้มกัน หรือ แอนติบอดี้ (Antibody) มาต่อสู้กับเชื้อไวรัสนั้น หากภูมิคุ้มกันสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้สำเร็จ ไวรัสก็จะหายออกจากร่างกาย และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นบางชนิดอยู่ในร่างกายตลอดไป ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่เคยป่วยแล้วจะไม่กลับมาป่วยอีก แต่ในกลุ่มไข้หวัดใหญ่นั้น เชื้อไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมค่อนข้างเร็ว ดังนั้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีอายุอยู่ได้เพียง 1 ปี ซึ่งหมายความว่า หากปีต่อไปอาจติดเชื้อไวรัสซ้ำอีกได้

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สธ.ได้ดำเนินการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส เรียกว่า แอนติเจน และกำลังดำเนินการใช้วิธีตรวจด้วยการหาภูมิคุ้มกัน ดังนั้น การตรวจทั้ง 2 วิธี จะต้องมีเวลาที่เหมาะสม เรียกว่า ช่วงเวลาที่ผู้ได้รับเชื้อมา แต่ยังตรวจไม่พบเชื้อ (window period) การตรวจด้วยแอนติเจน สามารถตรวจได้ในระยะ 3-5 วัน ที่ได้รับเชื้อมา แต่การตรวจหาภูมิคุ้มกันจะใช้เวลามากกว่านั้น บางครั้งนานถึง 2 สัปดาห์ การตรวจหาภูมิคุ้มกันสามารถบอกได้ว่า ผู้นั้นเคยได้รับเชื้อ ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่อยู่ในร่างกาย หากตรวจออกมาแล้วผลเป็นบวก แสดงว่าเคยได้รับเชื้อไวรัสมา เช่น หากในวันนี้ได้รับเชื้อมา แล้วอีก 2 เดือนข้างหน้า ไปตรวจหาภูมิคุ้มกันก็จะมีผลเป็นบวก แต่ไม่สามารถแพร่เชื้อไปไหนได้แล้ว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้การรับรองชุดตรวจหาเชื้อไวรัสใน 5 ราย ล่าสุดอนุมัติไป 2 ราย และอีก 2 ราย มีเงื่อนไข และส่วนที่ขออนุญาตชุดตรวจหาภูมิคุ้มกัน 17 ราย เนื่องจากราคาถูกและง่ายกว่าแบบหาเชื้อไวรัส อนุมัติไปเพียง 2 ราย แต่ทั้งหมดจะต้องเข้าสู่กระบวนการของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อีกครั้ง จึงอยากเตือนประชาชนว่า หากตรวจโดยไม่มีความเข้าใจ เนื่องจากการแปรผลจะมีผลว่า 1.ตรวจหาภูมิคุ้มกันแล้วผลเป็นลบ แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีการติดเชื้อ 2.ตรวจหาภูมิคุ้มกันแล้วผลเป็นบวก ไม่ได้แปลว่ามีการติดเชื้อและแพร่เชื้ออยู่ เนื่องจากอาจจะเป็นภูมิคุ้มกันที่อยู่ในร่างกายเมื่อหลายเดือนก่อนได้และเชื้อได้หายไปแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ window period ในการหาเชื้อโรค

“เนื่องจากขณะนี้มีผู้ที่ออกมาโฆษณาว่าชุดตรวจ rapid test ซึ่งเป็นชุดตรวจเร็ว ใช้เวลาน้อย แต่ไม่ได้แปลว่ารู้ว่าจะเป็นเร็ว โดยชุดตรวจเร็วนี้ตรวจได้ช้าด้วยซ้ำไป เนื่องจากจะต้องรอช่วงวินโดว พีเรียส มากกว่า 10 วัน กว่าผลจะขึ้น และเทสต์ทุกชนิดที่ได้รับการรับรองจะมีคำ 2 คำระบุ คือ 1.ความไว หมายความว่า หากมีการป่วยจริง เทสต์นั้นต้องบอกว่าบวกได้อย่างเร็ว ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์ฯ ใช้มาตรฐานการตรวจร้อยละ 85 ขึ้นไปให้การอนุมัติ 2.เทสต์นั้นจะต้องมีความจำเพาะ หากผลระบุว่าไม่เป็นจะต้องไม่เป็นจริงๆ อย่าเอาโรคอื่นเข้ามาปะปน ซึ่งใช้มาตรฐานการตรวจร้อยละ 85 ขึ้นไปเช่นกัน ถึงจะผ่านการอนุมัติรับรอง” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ประชาชนตรวจเอง เนื่องจากอาจจะเกิดความสับสนแก่ประชาชนได้