‘วิโรจน์’ หนุนมาตรการเยียวยา เสนอรัฐบาล ออกพ.ร.ก.โอนงบ-กู้เงิน แก้วิกฤต

‘วิโรจน์’ เสนอรัฐบาล ออกพ.ร.ก.โอนงบ-กู้เงิน แก้วิกฤตโควิด-19 

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ต้องยอมรับว่าหนึ่งในกลุ่มของผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตมากที่สุด ก็คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบประกันสังคม ซึ่งประกอบไปด้วย แรงงานรับจ้างทั่วไป ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานรายวัน พ่อค้าแม่ขาย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เพราะประชาชนเหล่านี้ เมื่อไม่มีงาน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปิดห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง และสถานประกอบการบางแห่ง คนในกลุ่มนี้ก็จะขาดรายได้ ในการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ของทั้งตนเอง และคนในครอบครัว ผสมโรงกับรายจ่าย และดอกเบี้ยจากหนี้ครัวเรือน ที่เดินหน้าเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน การเยียวยาประชาชนในกลุ่มแรงงานนอกระบบ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ

นายวิโรจน์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกล เห็นด้วยที่รัฐบาลออกมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” ในการเยียวยาแรงงานนอกระบบ รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน จำนวนทั้งสิ้น 3 ล้านคน ในวงเงิน 45,000 ล้านบาท โดยมาตรการดังกล่าวนี้ ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถเข้าไปลงทะเบียนรับเงินเยียวยาได้ที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com หรือธนาคารออมสิน กรุงไทย และ ธกส. โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในวันที่ 28 มีนาคม 2563 นี้ โดยหลักฐานที่ต้องใช้คือ บัตรประชาชน ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลนายจ้าง (ถ้ามี) โดยจะใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติ 5 วัน หากได้รับการอนุมัติ ก็จะโอนเงินเข้าไปยังบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกไว้กับบัตรประชาชน หรือบัญชีธนาคารที่ได้แจ้งเอาไว้ในระบบลงทะเบียน

“ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ วงเงินงบประมาณ 45,000 ล้านบาท นั้นอาจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มแรงงานนอกระบบได้อย่างเพียงพอ ด้วยเหตุว่า หากพิจารณาจากข้อมูลจำนวนแรงงานทั้งหมดในปัจจุบันที่มีอยู่ 38.4 ล้านคน มีแรงงานอกระบบอยู่ทั้งสิ้น 18.7 ล้านคน โดยแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากโควิด-19 ก็คือ แรงงานนอกระบบในภาคบริการ และภาคการผลิต ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 9.5 ล้านคน และเมื่อรวมกับแรงงานในระบบประกันสังคม ที่ทำประกันตนเองตามมาตรา 39 และมาตรา 40 รวมถึงแรงงานในระบบประกันสังคมในมาตรา 33 ที่ยังส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ซึ่งยังไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองการว่างงาน) อีกประมาณ 5 ล้านคนเศษ นั่นหมายความว่า จำนวนประชาชนทั้งหมด ที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องการการเยียวยามีทั้งสิ้นประมาณ 14.5 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ วงเงิน 45,000 ล้านบาท ที่ใช้เยียวยาประชาชนจำนวน 3 ล้านคน นั่นเท่ากับว่าสามารถเยียวยาประชาชนได้เพียง 20.7% เท่านั้น และยังเหลือประชาชนอีก 11.5 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา” นายวิโรจน์ กล่าว

ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกล จึงขออนุญาตเสนอแนะเชิงสนับสนุนรัฐบาลเพิ่มเติม ดังนี้

1.รัฐบาลควรพิจารณาออกพระราชกำหนดโอนงบประมาณ จากงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยให้พิจารณาจากทุกๆ รายการที่ไม่ใช่รายจ่ายประจำ เพื่อตัดงบประมาณจากโครงการเหล่านั้นออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานการณ์ปัจจุบัน ความมั่นคงที่มีความสำคัญสูงสุด ก็คือ ความมั่นคงในระบบสาธารณสุขในการดูแลรักษาชีวิตของประชาชน และความมั่นคงในการดำเนินชีวิตของประชาชนให้สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้ผ่านช่วงเวลาที่วิกฤตนี้ไปได้

2.ต่อให้โอนงบประมาณมาได้ 80,000 ล้านบาท ก็คิดว่ายังไม่น่าจะเพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์ เพราะว่าการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากจะใช้ในภารกิจด้านการสาธารณสุข และการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว รัฐบาลยังตั้งจัดสรรงบประมาณไว้ส่วนหนึ่ง ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากที่วิกฤตการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้วอีกด้วย พรรคก้าวไกล จึงขอเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาออกพระราชกำหนดเงินกู้จำนวนทั้งสิ้น 200,000 ล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะเตรียมความพร้อมด้านการสาธารณสุขได้อย่างเต็มที่ และจัดสรรเงินเยียวยาให้กับประชาชนได้อย่างครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดจำนวน 14.5 ล้านคน ได้รับความช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้า และเป็นธรรม และยังมีเงินเหลือไว้สำหรับการฟื้นฟูเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ในเวลาต่อมา

3.หลังจากที่รัฐบาลออก พ.ร.ก. เงินกู้ 200,000 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พรรคก้าวไกล ขอเสนอให้รัฐบาลเสนอเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพื่อให้รัฐสภาอนุมัติ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อจัดสรรงบประมาณในการรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ เล็งเห็นผล ที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการในการเตรียมความพร้อมด้านการสาธารณสุข และการเยียวยาทางตรงกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับการการเปิดสมัยประชุมวิสามัญ พรรคก้าวไกล ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อหารือในการจัดสรรผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้มีองค์ประชุมเพียงพอที่จะดำเนินการประชุมได้ โดยที่ไม่หนาแน่นเกินไป จนมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในระหว่างการประชุม