“เผ่าภูมิ” เตือนรัฐบาล อย่าถึงขั้นเคอร์ฟิว ชัตดาวน์ทุกอย่าง หวั่น “เจ็บจนเกินเยียวยา”

วันที่ 27 มีนาคม 2563 ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง แนวคิดการเคอร์ฟิวประเทศว่า ผมเข้าใจความกังวลในมิติและมุมมองทางด้านสาธารณสุข ซึ่งผมเห็นพ้องและเคารพ แต่อีกมุมมองที่ควรพิจารณาคู่ก้นคือมิติด้านเศรษฐศาสตร์ เรากำลังมีอีกวิกฤติหนึ่งรออยู่ หากเราควบคุมวิกฤติทางโรคระบาดด้วยต้นทุนที่สูงเกินจริง มันเป็นการซื้อเวลาวิกฤติหนึ่ง ด้วยราคาของอีกวิกฤติหนึ่ง ซึ่งมีอันตรายไม่น้อยไปกว่ากันเลย

สิ่งๆนั้น เรียกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการล้มตายของธุรกิจ การตกงาน และหากลามถึงปัญหาในระบบสถาบันการเงิน จะเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

บางแนวคิดอาจมองว่าเจ็บแต่จบ แต่ภาวะ “จบแต่เจ็บจนเกินเยียวยา” ก็อาจจะเกิดขึ้น

ปัจจุบันที่รัฐบาลทำคือการปิดไม่ให้คนเข้าออกประเทศ แต่ยังไม่ได้หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด (มีปิดห้าง ปิดโรงหนัง ร้านอาหารบ้าง ตามจำเป็น ฯลฯ)

ผมเห็นว่า ระดับนี้เป็นขั้นมากสุดที่เศรษฐกิจไทยจะรับไหวแล้ว หากเราเดินไปถึงขั้นหยุดทุกอย่างในประเทศ เรากำลังแก้ปัญหาหนึ่ง ด้วยการสร้างอีกปัญหาหนึ่งขึ้นมา

ญี่ปุ่น ใต้หวัน สิงคโปร์ ก็ทำแบบเราที่ทำอยู่ในตอนนี้….เท่านั้น ไม่ได้ไปไกลแบบอู่ฮั่นโมเดล

แต่ละประเทศมีกลไก เงินกองทุนของธนาคาร และกันชนทางการเงินของประเทศและธุรกิจที่ต่างกัน ผมเรียกมันว่า “สายป่านของประเทศ” อเมริกา จีน ยุโรป มีสายป่านที่ยาว มีธนาคารกลางที่สามารถทำนโยบายการเงินแบบไม่จำกัดได้

สายป่านของไทย ไม่ได้สั้นมาก แต่ไม่ยาวพอที่จะรองรับการหยุดทุกอย่างในประเทศ แบบที่อู่ฮั่นทำแน่นอน

การหยุดทุกการเคลื่อนไหวหรือเคอร์ฟิว เป็นการใช้ “บ้าน” เป็น “เครื่องป้องกัน” ไม่ให้มนุษย์สัมผัสกับมนุษย์ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเกือบทุกอย่างในประเทศมันต้องหยุดลง เพราะ “บ้าน” มันเคลื่อนที่ไม่ได้

จะดีกว่าไหม ถ้าเราใช้ “เครื่องป้องกัน” ที่สามารถเคลื่อนที่ไปทำงานได้บ้างตามจำเป็น คือการใช้ “กฎหมายควบคุม” ให้ผู้คน 1.ต้องใส่หน้ากาก 2.ต้องใส่แว่น 3.ห้ามทานอาหารร่วมกัน 4. Social Distancing แค่ในช่วง 30-60 วันนี้ ควบคู่ไปกับการหรี่ไฟประเทศแบบที่ทำอยู่ตอนนี้

ผมมองไม่เห็นว่าถ้าเราควบคุมให้ทุกคนทำทั้ง 4 ข้อนี้ เราจะสามารถ “แพร่เชื้อและติดเชื้อ” ได้ในทางไหน และเรายังสามารถไปทำงาน ใช้ชีวิตตามปกติได้ เราทุกคนก็ไม่ต้องตกงาน ธุรกิจก็ไม่ต้องล้ม ไม่ต้องเดิมพันเศรษฐกิจประเทศทั้งประเทศ

ฝากเป็นอีกหนึ่งความเห็นให้รัฐบาลพิจารณาว่า เราอย่าไปไกลจนถึงจุดนั้นเลย