เปิด ‘3 แพลตฟอร์ม’ สธ.ชวนโหลดแอพพ์ติดตาม ‘โควิด’ เชื่อมข้อมูล อำนวย ปชช.

เปิด ‘3 แพลตฟอร์ม’ สธ.ชวนโหลดแอพพ์ติดตาม ‘โควิด’ เชื่อมข้อมูล อำนวย ปชช.

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 26 มีนาคม ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งจากกลุ่มผีน้อยที่เดินทางมาจาก 4 ประเทศเสี่ยง และผู้ที่เดินทางจาก 11 ประเทศกลุ่มเสี่ยง ทั้ง 2 กลุ่มเบื้องต้นมีการกักตัวในสถานที่ที่รัฐบาลจัดสรรให้ ซึ่งหลังจากนั้นมีการตกลงยินยอมให้มีการควบคุมตัวที่บ้าน (home quarantine) โดยใช้แอพพลิเคชั่น AOT ของการท่าอากาศยาน ตามแนวทางของกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นระบบติดตามตัวผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยจะให้สังเกตอาการอยู่ที่บ้าน เจ้าหน้าที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่าอยู่บ้านตามข้อตกลงจริง มีการออกแบบให้ดูง่าย โดยใช้ สีเขียว คือ อยู่บ้าน ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค สีส้ม คือ มีการเคลื่อนตัวออกจากจุดที่แจ้งเกิน 200 เมตร สีแดง คือ กักตัวแล้วมีอาการไข้ หรือ ไม่ปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ โดยเจ้าหน้าที่จะโทรศัพท์ หรือเข้าไปพูดคุยตักเตือน เป็นเครื่องมือช่วยเจ้าพนักงานในการดำเนินการ ซึ่งข้อมูลจะถูกส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัดที่มีการ home quarantine

ดร.สาธิตกล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ติดเชื้อ (สีแดง) 2.กลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัง 14 วัน และ 3.คนที่เป็นพาหะแต่ไม่รู้ตัว (สีเทา) จึงมีการสร้างแอพพลิเคชั่น (Application) แพลตฟอร์ม (Platform) และแชตบอต (Chatbot) สำหรับทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่

1.แอพพลิเคชั่น AOT จะติดตามคนที่เดินทางมาจาก 4 ประเทศ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับ 11 ประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งนอกจากแอพพลิเคชั่น AOT จะช่วยเจ้าหน้าที่ในการติดตามตัวแล้ว ยังมีการบันทึกข้อมูล สถานที่ และวันที่เดินทางง่าไปเส้นทางใดบ้าง ซึ่งหากติดเชื้อในภายหลังจะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าวันที่ยังไม่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้เดินทางไปที่ไหน สัมผัสกับบุคคลใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการสอบสวนโรค โดยกรมควบคุมโรคจะสามารถติดตามได้

2.มีการเปิดแพลตฟอร์มทางการ https://covid19.ddc.moph.go.th/th ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน เป็นแพลตฟอร์มที่รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้คนรุ่นใหม่ และคนทั่วไป สามารถเช็กยอดผู้ติดเชื้อและแหล่งที่ติดเชื้อได้ ซึ่งอาจจะเร็วกว่าการแถลงข่าว 1-2 ชั่วโมง แต่เป็นข้อมูลเดียวกัน ทั้งยังมีแบบประเมินกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้รับความสนใจมากถึง 40,000-50,000 คน/วัน

3.กลุ่มเสี่ยงจะมี LINE official @sabaideebot สำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และเข้าข่ายเป็นผู้ติดเชื้อ จะสามารถบอกไปสู่หน่วยบริการได้ว่าเมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงแล้ว สังเกตอาการ ถูกส่งตรวจว่ามีเชื้อหรือไม่ โดยสามารถรอผลที่บ้าน และหลังจากทราบผลหากเป็นบวก หน่วยบริการจะดำเนินการรับท่านไปสู่การรักษา   โดยหน่วยบริการ และข้อมูลนี้จะถูกส่งไปยังกรมควบคุมโรค เพื่อรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ

“ทั้ง 3 แบบฟอร์มนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยทั้งประเทศว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ใช้เทคโนโลยีในการติดตามตัวท่าน ตั้งแต่เป็นผู้กักตัว 14 วัน ซึ่งสามารถให้ข้อมูลและสอบถามกลับได้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ แพลตฟอร์มที่ 2 สามารถดูสถานการณ์รายวันได้ และ 3.เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยง จะได้รับการบริการจากหน่วยบริการที่จะไปตรวจเช็ก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และเพื่ออัพเดตข้อมูลให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระทรวงสาธารณสุข ว่ามีความโปร่งใส มีข้อมูลที่เป็นจริง ใช้เทคโนโลยีเพื่อความรวดเร็ว ประชาชนจะได้ติดตามสถานการณ์ได้ทันท่วงที” ดร.สาธิตกล่าว

น.ส.ปวีณา จริยฐิติพงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงรายละเอียดของแอพพลิเคชั่น AOT ว่า เป็นของการท่าอากาศยานไทย โดยใช้กับ 1.นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงจะต้องโหลดแอพพลิเคชั่นนี้ และระบุพิกัดของตนเองว่ากักตัวที่ใด เป็นเวลา 14 วัน โดย เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม ซึ่งได้ผลดี ขณะนี้มีผู้ใช้กว่า 40,000 คนแล้ว
ทั้งนี้ กลุ่มที่ 2 คือ ประชาชนทั่วไป ก็ควรดาวน์โหลดไว้ เพราะแอพพลิเคชั่นจะติดตามตัว แต่เป็นข้อมูลที่ปิดไว้ ซึ่งจะนำมาใช้เมื่อตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 โดยแอพพลิเคชั่นจะเชื่อมกับข้อมูลของทุกคนที่อยู่ในสถานที่ วัน และวันเวลาเดียวกัน โดยจะส่งคำเตือนกลับมาให้ว่าเรารู้ว่าอยู่กลุ่มเสียงระดับไหน

น.ส.ปวีณากล่าวว่า นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นจะช่วยให้ทราบว่าเรามีความเสี่ยงตอยไหน เวลาใด ทั้งยังช่วยเจ้าหน้าที่ในการควบคุมดูแลการกักตัวสังเกตอาการ 14 วัน ว่ามีการปฏิบัติตามข้อตกลง และคำแนะนำที่ต้องอยู่ในสถานที่และรายงานสุขภาพวันละ 3 เวลาหรือไม่ ซึ่งจะระบุสถานที่เดินทางมา พร้อมเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้ตรวจสอบ โดยหากมีอาการปวดหัว เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ สามารถเชื่อมต่อกับระบบได้ทันที คุณหมอจะให้คำปรึกษา เป็นผู้ช่วยคัดกรองผู้ป่วยว่าควรเข้าไปสู่ระบบของการตรวจเช็กการติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งเมื่อเริ่มมีอาการ สถานะจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ผู้ที่มอนิเตอร์จะสามารถรู้ได้ หากผู้ที่อยู่บ้านเริ่มมีอาการป่วย หรือสุขภาพไม่ดี จะช่วยให้คุณหมอทำงานง่ายขึ้น โดยจะเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของกรมควบคุมโรค และเชื่อมต่อไปถึงแชตบอตของกรมการแพทย์

“ขอเชิญชวนให้ทุกท่านดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้ เนื่องจากเป็นประโยชน์กับพวกเราทุกคน และจะช่วยเจ้าหน้าที่ในการควบคุมโรคอีกด้วย” น.ส.ปวีณากล่าว

ด้านนายคณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับแพลตฟอร์ม https://covid19.ddc.moph.go.th/th เกิดจากการร่วมมือระหว่าง กรมควบคุมโรค และฮีโร่ภาคประชาชน โดยมีตัวแทน 2 ท่านมาช่วยทำแพลตฟอร์มนี้

“ทุกคนย่อมอยากทราบว่าจำนวนผู้ป่วยสะสมเป็นเท่าใด อยากเรียนให้ทราบว่า ณ ปัจจุบัน เหมือนไฟที่ไหม้บ้านแล้ว ไม่ใช่เวลาไปดูว่าไฟแรงขนาดไหน ร้อนขนาดไหน แต่เป็นเวลาที่เราต้องดูว่า หากเราจะดับไฟต้องตามไปที่จุดกำเนิดไฟอย่างไร ซึ่งหากดูจากเว็บไซต์ จะเห็นว่าจำนวนผู้ป่วยสะสมจะถูกอัพเดทขึ้นบนแพลตฟอร์มนี้ทุกวัน เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง อย่างเป็นทางการ ของกรมควบคุมโรค และกระทรวงสาธารณสุข โดยด้านล่างจะเป็น heat map เพื่อแกะรอยการระบาดของผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งหากคลิกไปที่วงกลมแต่ละจุด จะมีการอธิบายให้เห็นว่าจุดกำเนิด เกิดที่ใด วันที่เท่าไหร่ เวลาประมาณไหน เพื่อให้ทุกท่านที่อาจจะอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้น จะต้องมีความรับผิดชอบในการตรวจว่าตัวเองเป็นพาหะของการนำเชื้อนี้หรือไม่ ส่วนด้านล่าง จะเป็นกราฟผู้ป่วยสะสม และยอดการรักษาหาย ด้านซ้ายมือ เป็น ช่วงอายุของผู้ป่วย และค่าเฉลี่ยอายุของผู้ป่วย” นายคณวัฒน์กล่าว

นอกจากนี้ ด้านบนใกล้กับตัวเลขผู้ป่วยยังมีแบบประเมินของกรมควบคุมโรคว่า มีไข้สูงกว่า 37.5 มีอาการต่างๆ เช่น ไอ เจ็บคอ หรือมีอาการหอบเหนื่อยหรือไม่ โดยจะคำนวณหลังจากกรอกแบบฟอร์ม และจะแบ่งระดับความเสี่ยง ระดับที่ 1 2 3 หรือ 4  พร้อมคำแนะนำสำหรับประชาชนแต่ละท่าน” นายคณวัฒน์กล่าว และว่า

กรณีที่ 3 หากประเมินตนเองแล้วว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง และจะต้องอยู่ในการเฝ้าระวัง หรือ PUI เมื่อได้มีการตรวจแล็บที่โรงพยาบาล สามารถใช้แพลตฟอร์มนี้ช่วย โดยขอโค้ดแล็บกลับมา ไม่ต้องรอที่โรงพยาบาล ผลตรวจจะถูกส่งผ่านแชทบอท @sabaideebot หากพลเป็นบวก พบว่าติดเชื้อโควิด-19 ผลนี้จะถูกส่งกลับไปยังกรมควบคุมโรค เพื่อนำขึ้นบนแพลตฟอร์มของกรมควบคุมโรคต่อไป

นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นอื่นๆ ตั้งแต่ การบันทึกสุขภาพเพื่อเฝ้าระวัง บันทึกกิจกรรมเพื่อป้องกันการติดต่อกับสังคม สถานการณ์การแพร่ระบาด ประวัติการบันทึก และข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งทั้ง 3 แพลตฟอร์ม จะรองรับกลุ่มผู้ป่วย และอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน