สมชัย ศรีสุทธิยากร | ประเด็นถกเรื่อง ‘วุฒิสภา’ จะเอาประนีประนอม หรือแตกหัก (7)

สมชัย ศรีสุทธิยากร

เหตุผลความจำเป็นที่มีมาแต่ดั้งเดิม ตอนที่มีวุฒิสภาเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 เป็นไปเพื่อให้มีสภาที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถ เป็นสภากลั่นกรองกฎหมาย ด้วยเหตุที่เห็นว่าการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาตัวแทนจากประชาชนทั้งประเทศนั้น ยังอาจขาดคนที่เป็นความรู้ประสบการณ์ในทางการบริหารราชการแผ่นดิน ขาดความช่ำชองต่อเนื่องในการพิจารณากฎหมาย วุฒิสภาจึงเปรียบเสมือนสภาพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนราษฎร

บทบาทหน้าที่และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เป็นประเด็นที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในสังคมไทยตลอดระยะเวลากว่า 74 ปีของการมีวุฒิสภา เหมือนกับว่ายังหาความลงตัวที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยไม่ได้

บางครั้งก็ให้มีบทบาทมากมาย บางครั้งก็จำกัดบทบาท

บางครั้งมาจากการแต่งตั้ง บางครั้งก็เลือกตั้ง บางครั้งก็สรรหา

ราวกับว่า ทุกครั้งที่ออกแบบใหม่ บทบาทหน้าที่และการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา คือหนูทดลองยาครั้งใหม่ว่าแบบใดจึงจะรักษาโรคได้ดีกว่ากัน

แต่โชคร้ายว่า ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่สามารถหายาที่รักษาโรคการเมืองไทยให้หายป่วยอย่างได้ผล

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 วุฒิสภามีสมาชิก 200 คน มาจากการเลือกตั้ง เราก็ว่าคนได้รับเลือกไปอิงแอบอาศัยอำนาจบารมีนักการเมือง เป็นสภาผัวเมีย ขาดความเป็นอิสระ

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 วุฒิสภามีสมาชิก 150 คน มาจากการเลือกตั้ง 76 คนจากแต่ละจังหวัด และอีก 74 คนมาจากกรรมการสรรหา เราก็ว่าไม่สามารถทำงานร่วมกันเป็นเนื้อเดียว แบ่งเขาแบ่งเรา

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้วุฒิสภามีสมาชิก 200 คน มาจากการคัดเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพต่างๆ 20 กลุ่ม จากระดับอำเภอ จังหวัดและส่วนกลาง แต่ในบทเฉพาะกาลกลับให้มี 250 คนและอยู่ในอำนาจการคัดเลือกของ คสช. จนเป็นที่วิจารณ์ว่าเป็นสภาของการรองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ประเด็นเรียกร้องเพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของวุฒิสภา จึงเป็นประเด็นหลักเรื่องหนึ่งที่มิอาจเว้นได้

วุฒิสภาควรมีบทบาทหน้าที่เพียงไร

บทบาทพื้นฐานที่ทุกคนรับรู้คือการกลั่นกรองและยับยั้งกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร การให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การตั้งกระทู้ เปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คำแนะนำในการบริหารราชการแก่รัฐบาล

ซึ่งมีผู้ตั้งคำถามว่า ในปี พ.ศ.ปัจจุบันที่ประชาชนมีการศึกษา ผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยก็มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก ประสบการณ์ในการทำงานเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงในราชการหรือเอกชนก็จำนวนมาก ยังมีความจำเป็นต้องมีวุฒิสภามาทำหน้าที่พี่เลี้ยงคอยกลั่นกรองกฎหมายอีกหรือไม่

หน้าที่การให้ความเห็นชอบหรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็สามารถใช้กลไกสภาผู้แทนราษฎรได้ ส่วนการตั้งกระทู้ การให้คำเสนอ การอภิปรายทั่วไป ก็เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว จึงมีความจำเป็นอีกหรือที่ต้องมีวุฒิสภา

ยิ่งในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 272 ที่ระบุว่าใน 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมมีบทบาทในการให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งเป็นการกำหนดบทบาทที่ไม่เหมาะสมยิ่งและขัดกับบทบัญญัติที่เขียนไว้ใน มาตรา 113 ของรัฐธรรมนูญเองที่ว่า “สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด”

เพราะเพียงแค่ท่านยกมือให้ความเห็นชอบต่อผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือไม่ยกมือสนับสนุนผู้ถูกเสนอชื่อจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง นั่นคือการสะท้อนถึงการฝักใฝ่ทางการเมืองแล้ว

 

วุฒิสภาควรมีที่มาอย่างไร

ในกรณีที่โจทย์แรกผ่านคือ เห็นถึงบทบาทหน้าที่ที่ควรจะเป็นของวุฒิสภา การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาจึงเป็นโจทย์ต่อไปว่า สมควรออกแบบวิธีการได้มาอย่างไร ซึ่งจะไม่วิจารณ์ถึงการได้มาตามบทเฉพาะกาลที่ทุกคนเห็นแล้วว่าไม่เป็นไปตามกลไกที่ควรจะเป็น แต่จะพิจารณาถึงวิธีการออกแบบในเนื้อหาส่วนที่ 3 ของหมวด 7 รัฐสภา ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561

มาตรา 11 ของ พ.ร.ป.ส.ว. กำหนดกลุ่มอาชีพที่เป็นฐานการคัดเลือกกันเองถึง 20 กลุ่มอาชีพ และในมาตรา 40, 41 และ 42 กำหนดวิธีการคัดเลือกกันเองในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ โดยให้เป็นการเลือกในกลุ่มเดียวกัน หรือกลุ่มอื่นในสายเดียวกันตามวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.ป.ส.ว.

การกำหนดวิธีการดังกล่าว ตั้งอยู่บนความเชื่อว่าจะได้สมาชิกวุฒิสภาที่มีความหลากหลายจากกลุ่มอาชีพต่างๆ และไม่มีการเมืองเข้าแทรก ให้การเลือกเป็นเป็นอิสระ ห้ามหาเสียง ห้ามขอคะแนน ห้ามล็อบบี้แลกเปลี่ยนคะแนน โดยหวังว่าจะได้สมาชิกวุฒิสภาที่มีคุณภาพ

การทดลองเลือกสมาชิกวุฒิสภา 50 ราย ตามบทเฉพาะกาลที่ให้สมัครและคัดเลือกกันเอง 3 ระดับให้ได้ 200 คนแล้วมาให้ คสช.เป็นผู้ตัดสินใจเลือกในขั้นสุดท้ายเหลือ 50 คน พิสูจน์ให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบที่ออกแบบที่ไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนมาสมัคร ถึงขนาดบางพื้นที่มีจำนวนคนสมัครน้อยกว่าจำนวนคนที่ต้องการคัดเลือก

แต่ก็มีประเด็นโต้เถียงว่า เพราะทุกคนรู้ว่าท้ายสุด คสช.เป็นคนจิ้ม หากไม่ใช่สาย คสช.ก็ยากจะได้ แล้วจะมาสมัครให้เปลืองเงินทำไม

การทดลองที่เกิดขึ้น จึงยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าเป็นวิธีการที่ได้คนดีจริงหรือไม่

แต่หากจะต้องมีวุฒิสภา ดูเหมือนว่าการเชียร์ให้กลับไปใช้วิธีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนดังเช่นที่เคยดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ดูยังจะเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับมากกว่า เนื่องจากการออกแบบให้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและในจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีจำนวน ส.ว.มาก ดูเหมือนจะสามารถได้ ส.ว.ที่มีคุณภาพหลุดเข้ามาเป็นที่ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง

แล้วบทบาท ส.ว.
ตามบทเฉพาะกาล ควรมีข้อสรุปอย่างไร

หลายคนบอกอย่าไปแตะเขา อีกไม่กี่ปีเขาก็ไปตามบทเฉพาะกาล เพราะหากเขาไม่เห็นชอบกับการแก้รัฐธรรมนูญเดี๋ยวการแก้รัฐธรรมนูญจะไม่สำเร็จเพราะต้องอาศัยเสียงเขาถึง 1 ใน 3 ทั้งในวาระที่หนึ่งและวาระที่สามของการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับสายประนีประนอมคงคิดเช่นนี้

แต่สายที่ยึดหลักการนั้นพร้อมแตกหัก

เลิก ส.ว.ที่มาจากข้าราชการประจำ 6 นาย ที่กินเงินเดือนสองตำแหน่ง

เลิกอำนาจ ส.ว.ในการร่วมลงมติเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เลิกอำนาจ ส.ว.ในการต้องมาร่วมให้ความเห็นชอบกับ ส.ส.ในการแก้รัฐธรรมนูญทุกครั้งไป

จะเอาประนีประนอม หรือจะเอาแตกหัก ก็ลองตรองดูกัน